วันนี้เราจะพาตามบันทึกการเดินทางของ คุณ Palmography สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ไปเยือนดินแดนมากเสน่ห์อย่าง "เนปาล" กับรีวิว Nepali Diary หลง (รัก) ทาง...กลางหิมาลัย [[ Poon Hill–Annapurna Base Camp Trekking ]] ซึ่งตลอดการเดินทางนี้มีหลากหลายอารมณ์ให้ได้สัมผัส รวมถึงความงามของธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนเป็นเอกลักษณ์ด้วย ^^
สวัสดีครับ
สมัยเด็ก ๆ มีเพื่อน ๆ คนไหนที่ตอนคุณครูถามว่า "โตขึ้นอยากจะทำอะไร" แล้วตอบว่า "อยากเดินทางรอบโลก" เหมือนกับผมบ้างไหมครับ ? ตั้งแต่สมัยประถมผมฝันมาตลอดครับว่าอยากจะเดินทางรอบโลก แล้วก็ปักหมุดสถานที่ที่ตั้งใจว่าชาตินี้จะต้องไปเห็นด้วยตาให้ได้ไว้ 4 แห่ง
ไปเล่นกับเพนกวินและแมวน้ำที่ขั้วโลกเหนือ (ตอนนั้นไม่รู้ว่าขั้วโลกเหนือไม่มีเพนกวิน)
ไปขี่อูฐและดูตัว Sphinx ที่อียิปต์ (ตอนนั้นคิดว่า Sphinx เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง)
ไปล่องแม่น้ำดูอนาคอนดาและค้นหาสมบัติของชาวอินคาที่อเมซอน (อิทธิพลหนังล้วน ๆ)
และ....พิชิต "หิมาลัย" ภูเขาที่สูงที่สุดของโลก (ตอนนั้นเข้าใจว่าหิมาลัยเป็นชื่อภูเขา)
ผมเก็บความฝันนี้ไว้ในใจมาตลอด 20 ปี จนกระทั่งเมื่อต้นปีนี้ในที่สุดผมก็ได้เริ่มทำส่วนหนึ่งของความฝันสมัยเด็กเสียที แม้ว่าที่ที่ผมไปจะไม่ใช่ยอดสูงสุดของเทือกเขาหิมาลัย อย่าง Everest และจริง ๆ แล้วผมก็ไปถึงแค่ Base Camp เท่านั้นเอง แต่ยังไงผมก็ถือว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นก้าวแรกเล็ก ๆ ที่ผมได้เริ่มทำตามความฝันเสียที และสักวันเมื่อผมพร้อมมากกว่านี้.....ผมจะต้องไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้
เชิญชมภาพและอ่านบันทึกการเดินทางตามความฝันของผมได้เลยครับ
บทนำ
ต้องเกริ่นก่อนว่าการเดินทางครั้งนี้ ผมไปในช่วงวันที่ 4-14 เมษายน 2558 ที่ผ่านมาครับ หรือก็คือ 11 วันก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เนปาล ตอนแรกผมคิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะนำเรื่องราวการเดินทางในครั้งนี้มารีวิวดีไหม เพราะอย่างแรกเลยคือตอนนี้ที่นั่นน่าจะยังวุ่นวาย และก็คงจะยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าปลอดภัย อย่างที่สองคือผมไม่แน่ใจว่าประสบการณ์ที่ผมได้สัมผัสมาจะ "ยัง" มีประโยชน์อยู่หรือเปล่า...เพราะหลาย ๆ ที่ที่ผมได้ไป หลาย ๆ อย่างที่ผมได้ทำ ตอนนี้มันอาจไม่ได้เป็นอย่างที่มันเคยเป็นแล้วก็เป็นได้...แต่แล้ววันหนึ่งผมคุยผ่านข้อความกับไกด์และเพื่อนของผมที่เนปาลครับ ทำให้ผมได้รู้ว่าถึงแม้ตอนนี้หลาย ๆ อย่างจะเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องรายได้กันอยู่ เพราะรายได้หลักของประเทศเนปาลคือการท่องเที่ยวครับ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปเยอะเลย ดังนั้นผมจึงตัดสินใจเขียนรีวิวนี้ขึ้นมาครับ เผื่อว่าใครที่อ่านรีวิวนี้แล้วอาจจะมีแรงบันดาลใจไปเที่ยวเนปาลบ้าง ผมยอมรับครับว่าผมไม่กล้ารับรองหรอกว่าตอนที่เพื่อน ๆ ไปจะไม่เกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีก แต่ผมกล้ารับรองเลยครับว่าถ้าเพื่อน ๆ ได้มาที่นี่ละก็…"เพื่อน ๆ จะหลงรักเนปาลเหมือนกับผมแน่ ๆ :]"
แผนการเดินทาง
ก่อนอื่นผมขอเล่าภาพรวมแผนการเดินทางในครั้งนี้ก่อนนะครับ การเดินทางครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งการเดินทางที่ผมมาแบบงง ๆ คนเดียว เพราะหาเพื่อนมาด้วยไม่ได้ (อีกแล้ว) แต่จะเรียกว่าคนเดียวเดี่ยว ๆ แบบ Solo เลยก็ไม่ถูกนัก เพราะผมมากับ Agency แห่งหนึ่งในไทยครับ ซึ่งก็ทำให้ผมได้เพื่อนใหม่ที่มากับ Agency เดียวกันที่มีลักษณะคล้ายกันคือเป็น "ไอ้พวกหาเพื่อนมาเที่ยวด้วยไม่ได้" มาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ บางคนอาจจะเกิดความคิดว่า "มากับ Agency หรือทัวร์มันแพงอะ มาเองไม่ได้เหรอ ?"
"ได้ครับ" ถ้าหาข้อมูลมาเพียงพอสามารถติดต่อเตรียมเอกสารทำเรื่องมาเองเป็น และไม่มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษ การมากันเองใน "กลุ่มเล็ก ๆ" เป็นความคิดที่ดีและประหยัดครับ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็สามารถหาได้ง่าย ๆ เพียงแค่เข้า Google หรือ Search ใน Pantip นี้เองก็มีเยอะแยะ แต่ถ้าขี้เกียจหาเดี๋ยวท้าย ๆ รีวิวผมจะรวบรวมข้อมูลที่สำคัญไว้ให้ ในส่วนของการเตรียมตัวมาครับ แต่ตอนนี้อ่านเรื่องราวความเวิ่นเว้อของผมก่อนละกัน 555+ OK มาพูดถึงแผนการเดินทางต่อนะครับ แผนการเดินทางของผมเป็นไปตามนี้ครับ
วันที่ 1 : สุวรรณภูมิ, กรุงเทพฯ -> Tribhuvan, Kathmandu (เครื่องบินใหญ่) จากนั้น Tribhuvan, Kathmandu -> Pokhara (เครื่องบินเล็ก) พักที่ Pokhara 1 คืน
วันที่ 2 : Pokhara -> Nayapul (เหมารถ Jeep) จากนั้นก็เริ่มออกเดินจาก Nayapul -> Ulleri (1,900 m)
วันที่ 3 : Ulleri -> Ghorepani (2,860 m)
วันที่ 4 : Ghorepani -> Poon Hill (3,210 m) -> Tadapani (2,630 m)
วันที่ 5 : Tadapani -> Chomrong (2,170 m)
วันที่ 6 : Chomrong -> Sinuwa (2,360 m) -> Bamboo -> Hotel Himalaya -> Deurali (3,200 m)
วันที่ 7 : Deurali -> MBC (3,700 m) -> ABC (4,130 m)
วันที่ 8 : ABC -> MBC -> Deurali -> Hotel Himalaya -> Bamboo -> Sinuwa
วันที่ 9 : Sinuwa -> Chomrong -> Ghandruk -> (รถ Jeep) Nayapul -> Pokhara -> [[เครื่องบินเล็ก]] -> Kathmandu
วันที่ 10-11 : 2 วันนี้อยู่เที่ยวในตัวเมือง Katmandu ครับ เดี๋ยวว่าง ๆ จะมาเล่าในส่วนของภาคเสริม (ถ้ายังไม่ขี้เกียจเขียนนะ ;P)
Day 1 : Bangkok > Kathmandu (Tribhuvan International Airport) > Pokhara
ราเมศและลุงกม
เอาล่ะ...ผมขอเริ่มหน้าแรกของบันทึกการเดินทางที่สนามบินตรีภูวัน เมืองกาฐมาณฑุ (Kathmandu) ละกันนะครับ คงต้องเล่าก่อนว่าสาเหตุหนึ่งที่ผมเลือกมากับ Agency แทนที่จะ Backpack มาเองนั้น ก็ว่าเพราะผมไม่เคยขึ้นเครื่องบินมาก่อนครับ เลยกลัวว่าถ้าหาข้อมูลไม่ดี แล้วไปทำอะไรโก๊ะ ๆ กัง ๆ เดี๋ยวทริปจะล้มเอา ครั้งแรกเลยกะว่ามากับ Agency ให้พอรู้แนวทางก่อนละกัน คราวหน้า (ซึ่งมีแน่ ๆ) เดี๋ยวค่อยมาเอง.....แต่ถึงจะมี Agency คอยจัดการให้ก็เถอะ ผมก็ยัง "โก๊ะ" จนเกือบจะอดมาจนได้ เพราะไม่รู้ว่า เครื่องบินมันต้อง Check in ก่อนขึ้นด้วยเหรอฟะ = =" (เอิ่มมมมม ไม่รู้นี่หว่า รถไฟ รถทัวร์ เรือ ยังไม่เห็นต้อง Check in เลย) หลังจากนั่งเครื่องบินมาจนถึงสนามบินตรีภูวัน เมืองกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาลแล้ว ผมก็เอาตัวรอดโดยการเดินดุ่ม ๆ ตามนักเดินทางชาวไทยที่มีธงชาติติดกระเป๋าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ Agency ผมให้ไว้กับทุกคนครับเพื่อกัน (คนอย่างผม) หลงทาง = =" ยอมรับว่าตอนนั้นประหม่าหน่อย ๆ เพราะยังไม่รู้จักใครเลย และจำหน้าใครก็ไม่ได้ด้วย รู้แค่ว่าต้องไปกับไอ้คนที่มีธงติดหลังแค่นั้นแหละ ผมเดินตามเพื่อนใหม่ (ที่ยังไม่รู้จัก) ออกมาจนถึงลานจอดรถนอกตัวอาคารของสนามบิน ซึ่งเป็นที่ที่ผมได้พบกับ ราเมศ ( Ramesh) และลุงกม (Gom) ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นไกด์ในการเดินทางครั้งนี้ให้กับผมครับ
บางคนอาจจะสงสัยว่า "ใช้ไกด์ 2 คน เลยเหรอ !!?" หรือ "เคยอ่านรีวิวมาเขาบอกว่าแค่จ้างลูกหาบ (Porter) ก็พอไม่ใช่เหรอ ประหยัดกว่าด้วย"
"ใช่ครับ" ผมไม่เถียงเลย แต่พอดีว่ากลุ่มที่ผมมาค่อนข้างจะเป็นกลุ่มใหญ่มีหลายคนครับ และในบรรดาพวกเราก็มีนักเดินทางหลายประเภทด้วยกัน ทั้งสาย Hard core ที่เดินป่า เดิน Trek เป็นประจำอยู่แล้ว และพวก Trekking first time (เฮ้ย !! ครั้งแรกก็ล่อ ABC Route เลยเหรอฟะ !!!) ซึ่งไกด์ก็มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกประเภทหลังนี่แหละครับ และผมบอกเลยครับว่าผมไม่รู้สึกเสียดายเงินเลยสักนิดที่ได้ ราเมศและลุงกมมาเป็นไกด์ให้ และถ้ามาเองคราวหน้าผมจะโทรหาทั้งคู่แน่นอน เพราะทั้ง 2 คน ไม่ใช่แค่ไกด์คอยดูแลเรื่องอาหารและที่พักให้เท่านั้น แต่ยังเป็นเพื่อน เป็นผู้มีพระคุณ และเป็นอาจารย์ที่สอนบทเรียนดี ๆ ที่หาจากในหนังสือเรียนไม่ได้ให้กับผมด้วย (ซึ่งเดี๋ยวจะเล่าให้ฟังทีหลังครับ)
ป.ล. ราเมศคือพ่อหนุ่มถือถุงดอกไม้ คนที่หน้าเหมือนเหยาหมิง ส่วนลุงกมคือคนที่ใส่เสื้อ The north face อยู่ตรงกลางรูปครับ
สิ่งสำคัญที่แตกต่าง
มีอยู่เรื่องหนึ่งครับที่ทำให้ผมกับเพื่อนร่วมทริปคนอื่น ๆ มองกันและกันด้วยสายตาแปลก ๆ ตั้งแต่แรกเจอ นั่นก็คือเรื่องของ "ขนาดกระเป๋าสัมภาระ" สัมภาระทั้งหมดของผมจะถูกอัดอยู่ในกระเป๋าเป้ Deuter สุดรัก ขนาด 45+10 L เพียงใบเดียวเท่านั้นครับ ซึ่งถ้าไม่นับรวมลูกชาย 6D ที่ผมมักจะห้อยคอไว้ตลอดเวลาแล้วละก็ น้ำหนักรวมจะอยู่ที่ 7 กิโลกรัมนิด ๆ ซึ่งถือว่าเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมทริปคนอื่น ๆ และมีขนาดเพียง 1 ส่วน 3 ของกระเป๋าของเพื่อนบางคนด้วยซ้ำไป เพื่อนใหม่หลายคนมักจะถามผมว่า "เอาของมาแค่นี้เองเหรอน้อง" ส่วนผมก็มักจะถามกลับไปว่า "ครับผม แล้ว...พวกพี่แบกอะไรมากันเยอะแยะละครับเนี่ย =__=" แน่นอนครับว่าแต่คนละย่อมมี "สัมภาระที่ (คิดว่า) จำเป็น" ไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่าสำหรับคนไหนที่คิดว่าเป็นนักเดินทางสายซกมก เอ้ย !!! เออ....ผมหมายถึงสายชิลแบบผมละก็ รออ่านคำแนะนำในการเตรียมตัวในส่วนท้ายของรีวิวได้เลยครับ รับรอง 10 วันเอาอยู่ ใช้ทุกชิ้น และพี่ลูกหาบยิ้ม (เพราะไม่หนักมาก) แน่นอน
ราเมศและลุงกมพาเราเดินลากกระเป๋าต่อไปยังสนามบินเล็กที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง ไม่ไกลจากสนามบินหลักมากนักครับ แต่ถึงแม้ระยะทางจะไม่ไกลมาก แต่มันก็ไกลทีเดียวเมื่อต้องแบกสัมภาระมาด้วย ผมเลยสบายหน่อยตรงที่มีเป้แค่ใบเดียวที่สามารถแบกเองได้ แต่สำหรับเพื่อนอีกหลาย ๆ คนที่บางคนเอากระเป๋าแบบลากมา หรือมีกระเป๋าใบใหญ่มากกว่า 1 ใบ มันไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลยทีเดียวแม้ว่าจะมีรถเข็นให้ใช้
ทันทีที่ข้ามเข้ามาในเขตสนามบินเล็กผมก็เกิดความประหม่าอีกครั้ง เพราะนอกจากวันนี้จะได้ขึ้นเครื่องบินครั้งแรกแล้ว ยังจะได้นั่งเครื่องบินเล็กเป็นครั้งแรกอีกด้วย เครื่องบินเล็กลำที่ผมขึ้นมีทั้งหมด 20 ที่นั่งครับ ขนาดและลักษณะคล้าย ๆ กับรถทัวร์ บขส. บ้านเรา ต่างกันแค่เบาะนวดหลังไม่ได้เท่านั้นเอง (แอบสงสัยแบบบ้านนอก ๆ ว่าปกติเบาะนั่งเครื่องบินนี่มันนวดหลังได้เปล่า ?)
เครื่องบินกลัวฝน ?
บอกเลยว่าผม "โคตร" จะตื่นเต้นกับการขึ้นเครื่องบินรอบนี้มาก เพราะว่าตอนขามาจากไทยผมได้นั่งแถวกลาง เลยอดเห็นเทือกเขาหิมาลัยแบบ Bird eye view (ก็เพราะ Check-in ช้ากว่าเพื่อนนี่แหละ TT_TT) รอบนี้พอได้นั่งติดหน้าต่างเลยกระชุ่มกระชวยเป็นพิเศษ ผมเลือกที่นั่งที่คิดว่าจะเห็นวิวชัดที่สุด ในมือกุมกล้องอย่างใจจดใจจ่อรอเครื่องขึ้นอยู่กว่าครึ่งชั่วโมง แม้นี่จะเป็นการขึ้นเครื่องบินครั้งที่ 2 แต่ผมก็รู้ว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติแน่ ๆ ท้องฟ้ามืดครึ้มเหมือนฝนกำลังจะตก..."หรือเครื่องบินจะไม่ขึ้นตอนช่วงฝนตกกัน ?" ผมเกิดคำถามตามประสาคนเพิ่งเคยขึ้นเครื่องบิน
ผิดแผน
เป็นตามที่ผมสังหรณ์ไว้ไม่มีผิด หลังจากนั่งเปื่อย ๆ อยู่ในเครื่องกว่า 45 นาที เครื่องบินก็พาผมขับวนเล่นรอบลาน 1 รอบ ก่อนที่จะเชิญให้วิ่งลงฝ่าฝนที่เริ่มลงเม็ดกลับไปยังสนามบินเล็ก (เฮ้ยย ๆๆๆ หิมาลัยแบบ Bird eye view ตูล่ะ !!! โนวววววว) ราเมศอธิบายให้ฟังว่าที่นักบินตัดสินใจไม่เอาเครื่องขึ้นไม่ใช่แค่เพราะว่าฝนตกหรอกครับ แต่เนื่องจากมันเกิด ลมหมุน (Whirlwind) ซึ่งค่อนข้างที่จะเสี่ยงมาก ๆ สำหรับเครื่องบินเล็ก สถานการณ์ตอนนี้คือ Flight ของเราถูกระงับชั่วคราวจนกว่าลมจะสงบ พวกเราในกลุ่มจึงเริ่มพูดคุยกันเป็นครั้งแรก เพื่อตกลงกันว่า...จะเอาไงต่อไปดี
แผนแรกรอจนกว่าลมจะสงบและรีบเดินทางต่อโดยเครื่องบินเล็กไปยัง Pokhara ซึ่งก็ไม่รู้ว่าลมจะสงบเมื่อไหร่ หรือจะสงบภายในวันนี้หรือเปล่า แผนที่ 2 พักที่ Kathmandu 1 คืน แล้วรีบออกบินเที่ยวเช้า =>แผนนี้ถูกยิงตกเพราะลุงกมบอกว่าไม่น่าจะหาที่พักที่สะดวกสำหรับทุกคนได้ทัน และไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าพรุ่งนี้เช้าฟ้าจะสงบ แผนสุดท้ายคือแผนที่พวกเราเลือกครับ คือเปลี่ยนจากเดินทางโดยเครื่องบินเล็กเป็นเหมารถบัสเพื่อไปยัง Pokhara ทีเด็ดมันอยู่ตรงผู้ใช้รถใช้ถนนที่นี่แหละครับ
"แหม...ผมนึกว่าพวกพี่หลุดมาจากหนังเรื่อง The Fast and the Furious ซะอีก = =""
ความโชคดีในความโชคร้าย
ในหลาย ๆ ครั้งอะไรที่มันไม่ได้เป็นไปตามแผน ก็อาจจะพาเราไปเจอในสิ่งที่ดีกว่า ไหน ๆ ในเมื่อพวกเราตกเครื่องบินแล้วก็เลยยังพอมีเวลาอีกหน่อยในตัวเมืองกาฐมาณฑุ ราเมศและลุงกมเลยพาพวกเรามาเลือกซื้ออุปกรณ์ Trekking ที่ย่านทาเมล (Tamel) ครับ ย่านทาเมลเป็นย่านที่คล้ายสำเพ็งบ้านเราครับ เพียงแต่ของที่ขายส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์ Trekking ที่ผมเปรียบเทียบกับสำเพ็งเพราะมันเหมือนกันไหนหลาย ๆ แง่ครับ ทั้งตัวย่านที่เป็นตรอกซอกซอยที่มีร้านอุปกรณ์ Trekking อยู่เยอะแยะ แถมของที่ขายยังถูกมากแล้วยังจะต่อราคาได้อีกด้วย และที่เหมือนกันอีกอย่างก็คือแทบทั้งหมดเป็นของก๊อบครับ 55+ The north face, Deuter, Colombia, Quechua นี่เกร่อเต็มไปหมดแต่ราคาต่างจากในช้อปสัก 3-4 เท่าได้ แต่ถึงจะก๊อบก็ต้องยอมรับว่าคุณภาพดีจริง ๆ อันนี้ไม่ได้โม้ครับ ผมได้ถุงนอน The north face "ขนเป็ดแท้" สำหรับ -10 องศา กับกางเกงนอนอีกตัว ซึ่งคุณภาพดีกว่าของแท้ที่ผมซื้อมาจากไทยอีก (สลดหนักมาก)
จบบันทึกการเดินทางวันแรก...สาระประจำวัน
- วิธีคำนวณเงิน รูปีเนปาล -> บาทไทย แบบง่าย ๆ คือหาร 3 ครับ
- เวลาที่เนปาลจะช้ากว่าไทยประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที
- สภาพอากาศที่เนปาลโดยทั่วไปมักจะอากาศดีช่วงเช้าและตอนค่ำ ๆ เลย ตอนช่วงบ่ายฟ้ามักจะครึ้ม ฝน/ลูกเห็บ/หิมะตก ที่สำคัญช่วงบ่ายโดยเฉพาะช่วงเย็น ๆ Wi-Fi จะเลวร้ายเป็นพิเศษ
- ระวัง !! ที่สนามบินตรีภูวันมีอย่างหนึ่งที่คล้าย ๆ กับ บขส. บ้านเรา คือจะมีคนมาช่วยเราเข็นกระเป๋าครับ ซึ่งไม่ฟรีนะครับ รู้ตัวอีกทีก็ตอนถึงที่หมายแล้ว พวกพี่แกจะยืนติดหนึบไม่ไปไหนจนกว่าเราจะให้ทิปเลย (เพื่อนใหม่ผมโดยหลายคนเพราะนึกว่าเป็นผู้ช่วยไกด์)
- ย่าน Tamel เรียกได้ว่าเป็น "สวรรค์ของ Trekker นักช้อป" เลยครับ ถ้าจะมา Trek ที่นี่แล้วขาดตกอะไรที่หาซื้อที่ไทยไม่ได้ (อย่างเช่น ถุงนอน -5 -10 องศา) แนะนำให้มาซื้อที่นี่ครับ หรือถ้ามีเวลาในตัวเมืองกาฐมาณฑุน้อย ก็มีอีกที่หนึ่งครับ คือที่ตัวเมือง Pokhara (โปขรา) เลย ที่นี่ก็ถูกเหมือนกัน แต่ไม่ถูกมากเท่าที่ย่าน Tamel ครับ
Day 2 : Pokhara > Nayapul>> Ulleri
เช้าที่โปขรา
รถบัสมาถึงที่ Pokhara น่าจะสักประมาณตี 5 ได้ ผมจำเวลาได้ไม่แม่นนักเพราะยังไม่ได้ปรับเวลาให้เป็นเวลาเนปาล แต่สิ่งที่ยังพอจะจำได้คือตอนนั้นฟ้ายังมืดอยู่ ผมเมารถและยังไม่ได้นอน แผนการที่ถูกเปลี่ยนใหม่ของวันนี้คือเราจะเริ่มเดินทางต่อโดยรถ Jeep จากในตัวเมือง Pokhara ไปยังหมู่บ้าน Nayapul เริ่มต้นการเดิน Trek ตอน 10 โมงครับ ขณะนี้เวลา 6 โมงเช้านิด ๆ แปลว่าผมยังพอจะมีเวลานอนอีกประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่เสียงลึก ๆ ที่อยู่ในหัวผมมันไม่ยอมครับมันกระซิบเหน็บผมตลอดเวลา ตอนที่พยายามจะข่มตานอนว่า "จะนอนต่อจริง ๆ เหรอวะ แกคิดว่าแกจะได้มาเนปาลสักกี่ครั้งในชีวิตกัน ?"…"เออ พูดอีกก็ถูกอีก"
แผนการนอนของผมเลยเปลี่ยนมาเป็นออกมาเดินมั่ว ๆ รอบ ๆ เมืองตอนเช้าครับ เป้าหมายของเช้านี้มี 2 อย่าง คือดูวิถีชีวิตของคนที่นี่และหามุมสวย ๆ ถ่ายภาพ "เจ้าหางปลา" ยอดเขา Machhapuchhre (อ่านว่า มัชฉาปูชเรย์) ที่สามารถมองเห็นได้ไกล ๆ จากตัวเมืองครับ แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ขอหากาแฟสักแก้วก่อนนะ ไม่งั้นดูท่าวันนี้จะไม่รอดแน่ ๆ
Dhanybhad
2 คนนี้คือเจ้าของที่พักกับลูกชายครับ ก่อนออกมาผมเจอทั้งคู่กำลังเล่นกลเชือกกันอยู่หน้าประตู เลยแวะทักทายกับลองศัพท์ที่เรียนมาหน่อย
"Namaste"
"Namaste สวัสดีครับ"
อ้าว !!! พูดไทยได้เฉยเลย คุณเจ้าของบอกผมว่าช่วงหลัง ๆ คนไทยมาเที่ยวที่นี่เยอะครับ ก็เลยพอจะรู้คำทักทายพื้นฐานบ้าง ก่อนออกมาเขาสอนคำภาษาเนปาลีให้ผมอีกคำด้วยครับ หลัง ๆ ผมใช้บ่อยกว่า Namaste อีกคือคำว่า Dhanybhad (ดัน-บา-บัด) แปลว่าขอบคุณ
เดินออกมาได้แป๊บก็เจอพวกพี่ทหารเนปาลออกมาวิ่งตอนเช้า แอบสังเกตเห็นว่าชุดพรางพวกพี่เขาออกโทนฟ้า-น้ำเงิน สงสัยคงไว้พรางตัวบนภูเขาหิมะ
Tal Barahi วิหารกลางทะเลสาบ Phewa แหม...เสียดายไม่มีเวลาเลยไม่ได้ข้ามไป
เทพหรือเปล่าไม่รู้ แต่พี่ชอบท่าและความทุ่มเทของน้องมากครับ
Nepali Hipster
ผู้ชายขายน้ำ (ผลไม้) คั้นสด ๆ หนวด/กิน (ขาย) Clean/จักรยาน Vintage พี่นี่ต้องเป็น Nepali Hipster แน่ ๆ
จักรยานคันเก่าถูกปรับแต่งให้เป็นร้านขายน้ำผลไม้คั้นสดเคลื่อนที่ ผมไม่รู้ว่าที่เมืองไทยบ้านเรามีอะไรแบบนี้ไหม แต่ผมว่ามัน Hip Chic แล้วก็ Cool มาก (ผมไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรหรอก เห็นคนอื่นเขาพูดกัน) เสียดายตอนนั้นยังไม่มีเงินย่อยเลยอดอุดหนุนพี่หนวด Hipster เลย (เศร้าแป๊บ)
ใกล้เกลือกินด่าง ใกล้เกลือกินด่างมาก ๆ ครับ หลังจากเดินหามุมถ่ายเจ้าหางปลาซะทั่วเมืองจนขาลาก ปรากฏว่ามุมที่ดีที่สุดอยู่บนดาดฟ้าที่พักผมเองครับ = ="
พอ 10 โมง ราเมศและลุงกมก็พาพี่ลูกหาบมารับพวกเราไปหมู่บ้าน Nayapul ตามเวลาเป๊ะ หลังจากขนสัมภาระขึ้นรถ Jeep แล้วพวกเราก็เดินทางต่ออีกเกือบ 3 ชั่วโมง เพื่อไปยังหมู่บ้าน Nayapul เส้นทางช่วงนี้จะเป็นทางคดเคี้ยวเลาะไปตามภูเขาลูกต่าง ๆ อารมณ์คล้าย ๆ ทางไปแม่ฮ่องสอนหรือเส้นอุ้มผางครับ
พอเริ่มเข้าสู่หมู่บ้าน Nayapul ผมเริ่มเห็นเหล่าบรรดา Trekker เดินเรียงกันเป็นแถว อ้าว..แล้วทำไมเรายังไม่ลง ? คือ Trekker ส่วนใหญ่เขาจะเริ่มออกเดินตั้งแต่ด่านตรวจ Permit หน้าหมู่บ้านครับ แต่ Agency ของเราตั้งใจจะให้รถไปส่งให้จนสุดถึงที่รถจะไปต่อไม่ได้ เพื่อประหยัดแรงและเวลา อ้อ...ผมลืมบอกไปอย่างครับที่เห็น Trekker เยอะ ๆ นี่ไม่ใช่ทุกคนจะมุ่งสู่ Annapurna base camp กันนะครับ ส่วนใหญ่จะไปถึงแค่ Poon Hill เท่านั้นเอง ซึ่งตามแผนแล้วเราจะไปถึงที่นั่นในวันที่ 3 ของการเดินทาง
ดิน น้ำ ลม ไฟ นภา
ถ้าเห็นคนแต่งตัวแนวนี้ สีโทนนี้ ให้เดาไว้เลยครับว่าน่าจะเป็นคนแถบเนปาล ทิเบต ภูฏาน เพราะคนที่นี่มีความเชื่อตามหลักพุทธศาสนา (นิกายอะไรผมไม่แน่ใจ) เกี่ยวกับสีที่เป็นสัญลักษณ์ของธาตุทั้ง 5 ครับ คือ น้ำเงิน (นภา) ขาว (อากาศและลม) แดง (ไฟ) เขียว (น้ำ) และเหลือง (พสุธา)
ธงมนต์ : ฝากพระธรรมนี้ไว้ให้ลอยไปกับสายลม
ก่อนจะมาที่นี่ เวลาที่ใครพูดถึงเทือกเขาหิมาลัยผมมักจะนึกถึงยอดเขา Everest เป็นอย่างแรก แต่หลังจากที่มาแล้วสิ่งแรกที่ผมนึกถึงกลับกลายเป็นสิ่งนี้ครับ "ธงมนต์"
ธงมนต์, ธงมนตราธวัช, Prayer flag คือคำเรียกผืนผ้า 5 สี ที่เรียงร้อยต่อกันตามลำดับสีน้ำเงิน, ขาว, แดง, เขียว, เหลือง ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา และภายในผืนผ้าจะเขียนบทสวด พระสูตร คำสอนของพระพุทธเจ้ากำกับไว้ (+สัญลักษณ์ทางความเชื่อ ซึ่งขอไม่เล่านะครับมันยาว แต่น่าสนใจทีเดียว) ธงมนต์พวกนี้มักจะถูกแขวนอยู่ตามที่ต่าง ๆ ที่มีลมพัดครับ ไม่ว่าจะเป็นหลังคาบ้าน เสา คาน เจดีย์ ช่องเขา หรือแม้แต่สะพาน เพราะคนที่นี่มีความเชื่อว่าทุกครั้งที่ธงมนต์เหล่านี้ปลิวไสวเพราะต้องลม ก็เสมือนกับว่าลมนั้นช่วยท่องสวดพระคำบนธงผืนนั้นเพื่อเป็นสิริ (หมายถึงขวัญ, มงคล, โชค, Luck นะครับ ไม่ใช่ Siri ใน IOS) ให้แก่ผู้ที่ผูกธงมนต์นั้น
เริ่มออกเดิน
รถ Jeep ค่อย ๆ เคลื่อนผ่านถนนหินกรวดตามไหล่เขาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมาถึงสุดทางที่รถไม่สามารถไปต่อได้แล้ว ระหว่างทางผมและเพื่อนใหม่ในรถต่างส่งยิ้มและโบกมือทักทายให้กับ Trekker ทุกคนที่เราขับรถผ่าน หลายคนก็ยิ้มและทักกลับมานะ แต่อีกหลายคนก็ทำหน้าเหมือนอยากจะพูดว่า "ทำไมพวกเอ็_ ไม่ลงมาเดินฟะ !!" 555 อะไรประมาณนั้นครับ รถมาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้แล้วตอนบ่าย 2 นิด ๆ ครับ ที่ว่าไปต่อไม่ได้แล้วเพราะจากนี้ต้องเดินขึ้นไปตามบันไดหิน ซึ่งเป็นทางเดินระหว่างหมู่บ้านของชาวบ้าน ลุงกมบอกว่าจากที่นี่ไปถึงหมู่บ้าน Ulleri คนปกติใช้เวลาเดินประมาณ 2-3 ชั่วโมงครับ ถ้ารวมเวลาพักกินข้าวเที่ยง (ตอนบ่าย 2) แล้วก็น่าถึงราว ๆ 6 โมงได้ รออะไรล่ะ ไปดิ...ปะ !!
แผนการเดินของวันนี้ : Nayapul -> Ulleri
Life as a Trekker
มีความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่ผมมักจะโดนถามอยู่เสมอ ๆ จากคนที่ไม่เคยเดินป่า หรือเดิน Trek เวลาผมบอกว่า "จะไป Trekking นะ" ว่า "ก็คือเดิน ๆ ไปให้ถึงยอดเขาอย่างนี้ใช่ปะ ? แล้วไงต่อ ? มันสนุกเหรอ ?" OK ครับผมขอแยกตอบเป็นประเด็น ๆ ไปละกันนะ
1. มันคือการเดินขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงยอดเขาอย่างนั้นใช่ไหม ?
ไม่เชิงครับ การเดินป่าหรือการ Trekking ไม่ใช่ "แค่" การเดินไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ตรง ๆ ไปจนถึงยอดเขาแบบที่มักจะเห็นในการ์ตูนอะไรแบบนั้นนะครับ เอาเข้าจริงตั้งแต่เริ่มเดินป่ามาผมไม่เคยเจอภูเขาในลักษณะอย่างนั้นเลยนะ ในการเดินป่าหลายครั้งเราต้องเดินตามทางที่คนทำทางไว้ ทางของนักสำรวจ ทางเดินกลับบ้านของชาวบ้าน เส้นทางหาของป่าของนายพราน ทางน้ำไหลของลำธาร และบางครั้งถ้าลึก ๆ หน่อยก็เป็นทางเดินของสัตว์ป่า หลายครั้งเราต้องเดินขึ้น เดินลง เดินลดเลี้ยวไปตามลักษณะของภูเขาที่แตกต่างกัน และถ้าโชคดีหน่อยก็อาจจะเจอทางลาดบ้าง ยิ่งถ้าไปในที่ที่เป็นเทือกเขาหรือที่ที่ต้องข้ามเขาหลายลูกอย่างเช่นคราวนี้ เราจะได้ขึ้นสุดลงสุดบ่อยมาก และผมมักจะท้อ (หรือเรียกว่ารู้สึก "สยอง" ดีกว่า) ในบางครั้ง เวลาที่ต้องเจอทางลงยาว ๆๆ ก่อนจะถึงที่หมาย นั่นก็เพราะผมรู้ว่ายิ่งผมเดินลงมากแค่ไหน อีกเดี๋ยวก็ต้องเดินขึ้นอีกเป็นเท่าตัว เพราะเป้าหมายของผม "อยู่บนนั้น"
Trekker กับ ไอศกรีมโคน
2. แล้วไงต่อ ? มันสนุกยังไงเหรอ ?
อันนี้เป็นคำถามที่ยากพอ ๆ กับอธิบายให้ผู้หญิง (ส่วนใหญ่) เข้าใจถึงความสนุกของการเล่น DOTA หรืออธิบายให้ผู้ชายเข้าใจว่าทำไมผู้หญิงต้องซื้อชุดใหม่ทุกครั้งที่เพื่อนแต่งงาน ทั้ง ๆ ที่งานก็ห่างกันแค่อาทิตย์เดียว ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันเสียใหม่ก่อนครับว่า "เสน่ห์" และ "ความสนุก" ของการเดินป่ามันไม่ได้อยู่ "แค่" ที่จุดหมายครับ แต่มันเริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่เริ่มออกเดิน และสำหรับบางคน มันเริ่มตั้งแต่ตอนวางแผนการเดินทางอยู่หน้าคอมพ์หรือหนังสือเสียด้วยซ้ำ บางทีถ้าเปรียบกับไอศกรีมโคนอาจจะเข้าใจง่ายกว่า เวลาที่เรากินไอศกรีมโคนไม่มีใครคนไหนที่มุ่งมั่นเลีย มุ่งมั่นกัดเพื่อให้ถึงส่วนโคนไว ๆ กันใช่ไหมครับ (หรือมีหว่า ?) แต่เราจะค่อย ๆ "เสพ" ความอร่อยของมันช้า ๆ ผ่านลิ้น เริ่มจาก topping บนยอดไอศกรีม ต่อด้วยเนื้อไอศกรีม แล้วตามด้วยค่อย ๆ กัด Wafer ทีละคำ ๆ ไปถึงสุดปลายโคน ซึ่งบางยี่ห้อก็จะมี Chocolate หรือ Jelly เป็นของแถมอยู่ที่โคนด้วย พวกเราทุกคนกินไอศกรีมโคนกันอย่างนี้ใช่ไหมละครับ ?
การเดินป่าก็ไม่ต่างกันครับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างการเดินทางครั้งนี้ที่มี Annapurna base camp เป็น Jelly ที่อยู่ตรงโคน แต่ก่อนที่จะไปถึงตอนนั้น เราก็จะได้ลิ้มรสความงามของนาขั้นบันได หุบเขาดอกไม้ ป่าดิบชื้น วิว Panorama จากบนสันเขา เส้นทางเรียบผาและธารน้ำ หุบเขาที่มีน้ำตกไหลออกมาจาก 2 ข้างของหน้าผา และจนมาเจอภูเขาหิมะ คำตอบของผมอาจจะไม่เหมือนของ Trekker คนอื่น แต่ผมมีความสุขกับการได้อยู่ท่ามกลางสิ่งต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวมาเมื่อกี้นี้แหละครับ
จะให้ดูว่าผมเดินมาไกลแค่ไหน แค่ไหนเรียกเดินไกลนะครับ เห็นหมู่บ้านที่อยู่ไกล ๆ ถัดจากกลางภาพขึ้นไปหน่อยไหมครับ ? อันนั้นยังไม่ใช่ครับ...จุดเริ่มเดินของผมอยู่เลยหลังภูเขาลูกนั้นเข้าไปอีกครับ :]
Nepali Puppy
ผมเคยเข้าใจผิดมาตลอดว่า "หมาบ้าน" (หรือหมาเมือง ในภาษาเหนือ) จะหน้าเหมือนกันหมดทั้งโลก จนกระทั่งมาที่นี่ หมาบ้านของที่นี่หน้าตาจะออกไปทางโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ขนสีดำฟู ๆ มี 4 ตา (มีแต้มน้ำตาลที่คิ้ว) และนิสัยขี้ออเซาะมากครับ
หมู่บ้าน Ulleri
ผมเดินมาถึงหมู่บ้าน Ulleri ตอน 6 โมงนิด ๆ ตามที่ลุงกมได้คาดการณ์ไว้ ถือว่าเป็นคนแรก ๆ ของคณะเดินทางที่มาด้วยกัน จริง ๆ ผมก็ไม่ได้ตั้งใจจะเดินเร็วหรอกนะครับ ตอนแรกก็กะว่าจะเดินถ่ายรูปมาเรื่อย ๆ แหละ แต่พอดีว่าเพื่อนใหม่ที่เดินคุยมาด้วยกัน ดันเป็นสายถึกเดินเร็ว ผมเลยต้องเร่งเดินตาม แต่ผมมารู้ทีหลังครับว่าวันนั้น จริง ๆ แล้วเขาก็ไม่ได้ตั้งใจจะเดินเร็วหรอกครับ แต่เขาเห็นผมเดินเร็วก็เลยเร่งเดินไปด้วย เอ้า !!!
... เด็กชายตัวน้อยที่หมู่บ้าน Ulleri
รูปนี้ถ่ายจากหัวเตียงตอนก่อนที่ผมจะนอนครับ เสียดายคืนนี้แสงจันทร์สว่างไปหน่อยเลยอดเห็นเจ้า "ช้างเผือก" เลย แต่ไม่เป็นไรครับ ผมคำนวณไว้แล้วว่าพอถึงวันที่ไปถึง ABC มันจะเริ่มเป็นคืนเดือนมืดพอดี ตอนนี้ต้องอดใจรอไปก่อน แต่จริง ๆ ท้องฟ้ายามราตรีในคืนเดือนหงาย มันก็สวยไปอีกแบบนะผมว่า :}
จบบันทึกการเดินทางวันที่ 2...สาระประจำวัน
- ถ้าอยากมาเสพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนที่นี่ แนะนำให้ตื่นเช้า ๆ ออกมาเดินเล่นครับ
- ที่นี่อากาศเย็นจนถึงขั้นหนาวก็จริง แต่กลางวันอากาศก็ร้อนใช้ได้เหมือนกัน ฉะนั้นตอนเดิน Trek ไม่ต้องใส่เสื้อกันหนาวนะครับ เพราะยิ่งเดินร่างกายเราจะอุ่นขึ้นเอง
- ไม่ต้องรีบเดินครับ ที่หมายวันนี้ไม่ได้ไกลอะไร (มั้ง) 2 วันแรกของการเดิน ถือว่าเป็นการ Warm up ก่อนจะเจอ "ของจริง" ครับ ถ้ารีบเกินไปแทนที่จะได้ Warm มันจะกลายเป็นเหนื่อยสะสมเอา
- แนะนำมาก ๆ ว่าควรจะออกกำลังกายมาก่อนครับ อาจจะง่าย ๆ เช่น เดินบ่อย ๆ หรือเดินขึ้น-ลง บันไดแทนการใช้ลิฟต์ก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องแค่ว่าเดินไหว ไม่ไหว แต่ถ้าเราเหนื่อยมาก ๆ เราจะเริ่มไม่อยากรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว เริ่มไม่สนความงามของภูเขา ดอกไม้ ต้นไม้ ใบหญ้าที่อยู่ข้างทาง....ซึ่งเหตุผลที่พวกเรามาก็เพราะสิ่งเหล่านี้ใช่ไหมละครับ ?
- เวลาเดินอย่าพักนานครับ ภาษานักกีฬาเขาเรียกว่า “เดี๋ยวเครื่องมันจะดับ” ทำให้เวลาพอออกเดินอีกครั้งจะล้าเป็นพิเศษ แนะนำให้พักไม่เกิน 3-5 นาที/ครั้งครับ
- เวลาเดินอย่าดื่มน้ำเยอะครับ มันจะจุก ให้ค่อย ๆ จิบเรื่อย ๆ เอา
- แนะนำให้มีกระบอกน้ำส่วนตัว (ของผมใช้ขวดน้ำ 2 ขวด) ครับ เพราะข้างบนไม่มีน้ำขวดขาย มีแต่น้ำให้เติม ซึ่งราคาก็จะแพงขึ้นตามระดับความสูงครับ
- อันนี้อาจจะยากนิด แต่ถ้าทำได้จะมีประโยชน์มาก คือเวลาเดินขึ้นบันไดชัน ๆ ให้เหยียบพื้นแบบ "แม่แรงงัด" ครับ คือเหยียบไปให้เต็มฝ่าเท้าแล้วยกตัวเองขึ้น ถ้าชินแล้วจะประหยัดพลังงานไปได้เยอะเลยครับ
Day 3 : Ulleri >> Ghorepani
วันที่ 3 ของการเดินทาง และวันที่ 2 ของการเดิน Trek วันนี้ก็เดินไม่ไกลมากนักครับ (เมื่อเทียบกับวันอื่น ๆ ที่เหลือนะ) ถือเป็นการปรับตัวก่อนที่จะเจอ "ของจริง" ในอีก 2-3 วันข้างหน้า เป้าหมายของวันนี้ก็คือเดินจากหมู่บ้าน Ulleri (2,080) ไปยังหมู่บ้าน Ghorapani (3,194)
หมู่บ้าน Ghorapani ที่กำลังจะไปนี้มีชื่อเสียงเด่น ๆ อยู่ 2 อย่างครับ คือเป็นหมู่บ้านที่นักเดินทางจะมาพักก่อนที่จะเดินขึ้นเนิน Poon Hill ในเช้าวันถัดไป กับอีกอย่างหนึ่งก็คือในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี หุบเขาและภูเขารอบ ๆ หมู่บ้าน Ghorapani จะกลายเป็นสีชมพูอมแดงด้วยสีของดอก Lali Guras ดอกไม้ประจำชาติของประเทศเนปาลครับ
"เมื่อใจมันเซ มัชฉาปูชเรย์คือจุดหมาย" อ้อ...แต่ยอดขาว ๆ นั้นไม่ใช่ มัชฉาปูชเรย์นะครับ ผมร้องเพลงเฉย ๆ เห็นว่ามันคล้องจองดี ;p ยอดนั้นคือยอด Dhaulagiri I ครับ
Diary
แม้ว่าจะไม่ใช่คนที่ฉลาดอะไร แต่ผมก็ค่อนข้างมั่นใจในเรื่องการเก็บรายละเอียดความทรงจำของตัวเองอยู่พอสมควรครับ ด้วยเหตุนี้เวลาที่ผมเจอสิ่งน่าสนใจหรือประทับใจอะไรระหว่างการเดินทาง ผมมักจะ "สัมผัส" มันด้วยประสาททั้ง 5 "เก็บ" ความทรงจำเหล่านั้นด้วยกล้อง "บันทึก" รายละเอียดทั้งหมดผ่านเข้าสมองโดยตรง และหลังจากนั้นก็จะนำมา "ถ่ายทอด" เรื่องราวในรูปแบบของ Scrapbook ในสมุดไร้เส้น, บน Facebook หรือบางทีก็ใน Pantip เหมือนอย่างที่ผมกำลังทำอยู่ตอนนี้
แต่สำหรับการเดินทางครั้งนี้ที่นานถึง 10 วัน ผมรู้ว่าผมต้องได้เรียนรู้ ได้เห็น ได้สัมผัสอะไรใหม่ ๆ มากมายเกินกว่าที่ผมจะเก็บทุก ๆ รายละเอียดได้แน่ ผมก็เลยพกอุปกรณ์ช่วยจำมาอีกชิ้นหนึ่ง อุปกรณ์ขั้นพื้นฐานที่ไม่หนัก ขนาดกะทัดรัด และไม่ต้องชาร์จไฟ "สมุดโน้ตและดินสอกด" การจดบันทึกด้วยสมุดโน้ตอาจจะช้าก็จริง แต่มันก็ทำให้เราพอมีเวลาที่จะทบทวนและเรียงร้อยเรื่องราวอีกครั้งให้สละสลวยและละเอียดยิ่งขึ้น
ราอุล...เด็กชายข้างโรงแรม
8 โมงครึ่งตามเวลาเนปาล คือเวลาที่ผมเริ่มเดินออกจาก Ulleri วันนี้ผมตั้งใจจะเดินคนเดียวครับ เพราะผมอยากจะเสพวิวทิวทัศน์ 2 ข้างทาง และใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด เลยต้องรีบเดินออกมาก่อน (กลัวจะเป็นแบบเมื่อวานที่พอมีคนเดินด้วย แล้วจะเผลอเร่งเดินโดยไม่ตั้งใจ) ระหว่างทางได้ผ่านคริสตจักรแห่งหนึ่งด้วยครับ น่าสนใจตรงที่ว่าศาสนาประจำชาติของที่เนปาลคือพุทธศาสนา แต่ศาสนสถานแห่งเดียวที่ผมเจอตลอดการ Trekking ครั้งนี้คือโบสถ์คริสต์หลังนี้
คุณยายผู้ออกมาลับมีดกลาง 3 แยก
Resham Firiri : บทเพลงสื่อรักแห่งขุนเขาหิมาลัย
"เลส ซัมมาฝีรี่รี รี่เลส ซัมมาฝีรี่รี" มีเพลงอยู่เพลงหนึ่งครับที่ไม่ว่าใครก็ตามถ้าได้มาประเทศเนปาลละก็ จะต้องได้ยินแน่ ๆ ผมได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกตอนเดินผ่านเด็ก ๆ ที่กำลังต้อนวัวไปกินหญ้า หลังจากนั้นก็ได้ยินบรรดาพี่ ๆ ลูกหาบร้องต่อ ๆ กันตอนที่เดินแซงผ่านผมไป และผมได้ยินอีกครั้งตอนผ่านคุณปู่ที่กำลังสีเครื่องสีเป็นจังหวะเพลง ๆ นี้อยู่ที่ริมทุ่งข้าวบาร์เลย์ตอนขากลับ.....มาถึงตรงนี้หลายคนคงคิดว่ามันก็คงเป็นเพลงพื้นบ้านที่ดังในหมู่ชาวบ้านในละแวกนี้ใช่ไหมล่ะครับ ? แต่ผมจะบอกว่าแม้แต่ในบาร์ในย่าน Tamel ในเมืองหลวง Kathmandu นักร้องก็ยังร้องเพลงนี้เลย !!! แถมร้องต่อจากเพลง Leave on a jet plane ของ john Denver กับเพลง She will be loved ของ Maroon 5 อีกต่างหาก !! ดังไหมละครับ
ชื่อของเพลง ๆ นี้คือ Resham Firiri ครับ เนื้อหาของเพลง (เท่าที่ผมเข้าใจ) จะพรรณนาถึงความรักและความคิดถึงของชายคนหนึ่งที่มีต่อผู้หญิงที่เขารักครับ ตัวอย่างจาก Youtube เผื่อใครอยากฟังของจริงครับ
https://www.youtube.com/watch?v=UHgHhMjsek8
แม่ม้า+พ่อลา = ล่อ
เจ้าพวกนี้คือ "ล่อ" ครับ ล่อเป็นสัตว์ลูกผสมระหว่างลาตัวผู้กับม้าตัวเมีย คนที่นี่นิยมใช้เขาเป็นพาหนะขนส่งสิ่งของระหว่างหมู่บ้านหรือในพื้นที่ที่รถไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากล่อแล้วคนที่นี่ยังใช้ทั้งม้าและลาด้วยครับ และขอสารภาพว่า...จนถึงตอนนี้ผมก็ยังแยกระหว่างม้า ลา ล่อ ไม่ค่อยจะออกหรอก = ="
ใบไม้หนามของเจ้าชายน้อย
ตลอด 2 ข้างทางไปจนถึงหมู่บ้าน Ghorepani ถ้าสังเกตให้ดี ๆ อาจจะเห็นต้นไม้ชนิดหนึ่งครับ เขาเป็นไม้พุ่มต้นเล็ก ๆ ที่อยู่กันเป็นกลุ่ม ผมไม่รู้หรอกว่าเขาชื่ออะไรหรือว่ามีดอกไหม แต่ที่แน่ ๆ เขามี "หนามแหลมที่ใบ" ซึ่งหนามของเขาเนี่ยโดนเข้าไปจะเจ็บและคันมาก (คือโดนมาแล้วไง) และมันไม่ใช่เจ็บธรรมดา ๆ แบบโดนของแหลมตำนะครับ แต่เหมือนกับโดนสารอะไรสักอย่างจากหนามเข้าไประคายเคืองทำให้เรารู้สึกปวด ๆ แต่ยังไงถ้าโดนก็อย่าไปทำร้ายเขาเลยนะครับ ผมเชื่อว่านี่คงเป็นวิธีป้องกันตัวที่ดีที่สุดเท่าที่เขาพอจะทำได้ เพื่อไม่ให้ม้าและล่อมากินเขาครับ
"ดอกไม้มีหนามไว้ทำไม" เจ้าชายน้อยไม่เคยยอมยุติคำถามที่เขาตั้งขึ้นมาเลย ผมกำลังหงุดหงิดกับเจ้าเกลียวนั่นก็เลยตอบส่ง ๆ ไปว่า "หนามน่ะไม่ได้มีไว้ทำไมหรอก มันเป็นความชั่วร้ายของพวกดอกไม้มากกว่า" … "โอ" หลังจากเงียบไปพักหนึ่งเขาก็พูดด้วยน้ำเสียงขมขื่นว่า "ผมไม่เชื่อคุณหรอก ดอกไม้น่ะอ่อนแอมาก เธอไม่มีพิษสงอะไรเลย เธอต้องป้องกันตัวเองเท่าที่สามารถทำได้ และเธอก็คิดว่าเธอดูน่ากลัวแล้ว กับแค่การมีหนามไว้ป้องกันตัว ..." บทสนทนาระหว่างเจ้าชายน้อยกับนักบิน
3 สาวน้อย ณ หมู่บ้านกลางป่า
การตัดสินใจบนหลังรถอีแต๊ก
"Trekking ที่นี่ยากไหม ?" "ถ้าเทียบกับ XXX หรือ YYY อันไหนยากกว่ากัน" ผมเชื่อว่าน่าจะมีเพื่อน ๆ บางคนที่อ่านรีวิวนี้ของผมแล้วเกิดอยากจะมาบ้าง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าร่างกายตัวเองจะไหวหรือเปล่าใช่ไหมล่ะครับ ? จะบอกว่าผมก็เคยเกิดคำถามนี้เหมือนกันครับ แม้ว่าตัวผมเองจะเดินป่าโหด ๆ ในเมืองไทยมาหลายที่แล้วก็ตาม...แต่ก็จะคิดอยู่ตลอดว่า "เฮ้ย !! นี่หิมาลัยนะเว้ยมันไม่เหมือนกัน" ไม่ก็ "มันต้องเดินตั้ง 7-8 วัน เชียวนะ" ผมเลยเก็บความสงสัยนี้ไปปรึกษา "พี่เอก" แห่งแคมป์ลูกหมูสะพายเป้ นักจัดทริปเดินป่าและรุ่นพี่นักเดินป่าที่ผมเคารพมากคนหนึ่ง ตอนไปออกทริป โมโกจู ครั้งที่ 2 ด้วยกันเมื่อต้นปี
"อ้อ...ABC นะเหรอ เฮ้ยชิล ๆ มันไม่ได้เดินยากอะไรหรอก มันมีทางปูไปให้เดินอย่างดีเลย ระวังแค่โรคแพ้ความสูงละกัน อย่าไปวิ่ง" คือคำแนะนำจากปากพี่ระหว่างที่พวกเรากำลังนั่งรถอีแต๊กฝ่าความมืดออกมาจากป่าแม่วงก์ ผมจำได้ว่าคืนนั้นเป็นคืนเดือนมืดที่อากาศหนาวและสามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้ คำพูดของพี่เอกในตอนนั้นทำให้ผมตกลงใจว่า "ผมจะต้องมาที่นี่ให้ได้ !!"
กายและใจ
และก็เป็นดังที่พี่เอกได้บอกผมไว้ครับ เส้นทางที่นี่ไกลโคตร ๆ จริง (รวมทั้งทริป 100 กิโลเมตรนิด ๆ) หลายช่วงก็ชันจริง ๆ แต่ทางก็ไม่ได้ลำบากครับ ทางส่วนใหญ่มีการปูพื้นหินให้เดินสบาย ๆ เลย ไม่ต้องปีนทางน้ำตก กระโดดไปตามก้อนหิน หรือลุยโคลนเหมือนหลาย ๆ ป่าในบ้านเรา ถ้าจะมีอะไรที่เป็นอุปสรรคผมว่าน่าจะเป็น "ร่างกายที่ไม่ฟิตพร้อม" กับ "ใจที่ไม่สู้" มากกว่าครับ ปัญหาด้านร่างกายสามารถแก้ได้ด้วยการออกกำลังกายครับ รวมถึงเดินให้เป็น คือเดินอย่างรู้กำลังตัวเอง ไม่ต้องรีบ ส่วน "ใจ" ผมคงให้คำแนะนำอะไรไม่ได้มาก แต่อยากจะบอกว่าตลอด 8 วัน ที่นี่ผมเจอนักเดินทางหลายประเภทมากครับ ตั้งแต่เด็กขวบกว่า (ไม่ได้โกหกนะครับ ผมเจอครอบครัวคุณหมอสัญชาติเยอรมัน พาลูกขวบกว่า ๆ มาเดินจริง ๆ) ไปจนถึงแก๊งคุณตา คุณยายวัยเกษียณ ชาวญี่ปุ่น ที่แค่เดินทางตรง ๆ ยังงก ๆ เงิ่น ๆ ช้า ๆ อยู่เลย แต่พวกท่านก็ค่อย ๆ เดินไปด้วยกันจนถึง ABC จนได้ อ้อ..อีกอย่างเท่าที่สังเกตนักเดินทางผู้หญิงที่มาที่นี่ส่วนใหญ่จะหน้าตาดีและดูมีเสน่ห์มากครับ อันนี้ Confirm ;p
10 โมงกว่า ๆ ผมก็เดินมาถึงหมู่บ้านที่ชื่อว่า Nangethanti แผนที่ยับ ๆ ในมือผมบอกว่าถ้าถึงหมู่บ้านนี้แล้วก็แปลว่าผมเดินมาได้เกือบครึ่งทางแล้ว ลูกหาบที่ราเมศส่งมาจากข้างหลังวิ่งมาบอกผมกับเพื่อนใหม่ที่เดินมาด้วยกันว่า มื้อเที่ยงนี้เราจะพักทานข้าวที่นี่
**ในคณะเดินทางที่ผมมามีทั้งคนที่เดินเร็วมาก เดินเร็ว เดินเร็วปานกลาง เดินช้า และเดินช้ามาก ๆ+ตากล้อง ทำให้เราไม่สามารถเดินเกาะกันเป็นกลุ่มได้ครับ ทุกคนต่างเดินตามความเร็วฝีเท้าของตัวเอง และเป็นก็หน้าที่ของลุงกมและราเมศที่คอยดูแลกลุ่มที่เดินช้า ๆ อยู่ข้างหลัง ส่วนคนที่เดินเร็วและเร็วมากจะเป็นหน้าที่ของ Super ลูกหาบของเราที่ขนาดแบกของจนท่วมหัว แต่ก็เดินเร็วกว่าพวกเราทุกคนเป็นคนดูแล
Dal Bhat
"Fried Rice"
"ฮะ !!"
"Tuna Cheese Pizza"
"เฮ้ย !!! เอาจริงดิ"
ผมเกิดอาการ เอ๊ะเป็นพัก ๆ เมื่อได้ยินเพื่อนร่วมทริปสั่งเมนูที่แสนจะ Basic มากิน ผมเข้าใจนะเรื่องความชอบของคนเราไม่เหมือนกัน แต่แบบเฮ้ย !! มาเนปาลทั้งทีแล้วสั่งข้าวผัดมันก็เหมือนไปเที่ยวทะเลแล้วสั่งหมูกระทะกินหรือเปล่านะ ผมลองไล่สายตาไปในเมนูอาหารทีละรายการ ๆ มันต้องมีสิ เมนูที่บ่งบอกว่า Nepali โคตร ๆ หลักการหาของผมก็ง่าย ๆ ครับ พวกเมนูที่มันท้องถิ่นมาก ๆ ส่วนใหญ่มักจะมีอย่างสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือชื่อมันจะแปลก ๆ หาคำแปลเป็นภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แล้วผมก็มาสะดุดตาเข้ากับเมนูหนึ่งครับ คิดเอาไว้ว่าใช่ ต้องใช่แน่ ๆ เมนูนั้นมีทั้งชื่อที่อ่านไม่เข้าใจ แถมยังวงเล็บชื่อที่บ่งบอกความเป็น Nepali เอาไว้ด้วย
Dal Bhat (Nepali style Curry rice)
"Excuse me, I want to order….(อ่านว่าอะไรฟะ)...This…Please."
Momo เดอะ เกี๊ยวซ่าเนปาลี
สิ่งนี้เรียกมา "Momo" ครับ ออกเสียงว่า "โมโม้" นะครับไม่ใช่ "มูมู้" Momo เป็นอีกหนึ่งเมนูพื้นฐานของเนปาลที่ไปร้านไหน ๆ ก็เจอ พอ ๆ กับเจ้า Dal Bhat ที่ผมสั่งไปเมื่อกี้นี้ ถ้าจะให้จำกัดความว่ามันคืออะไรละก็....ผมว่ามันน่าจะเรียกได้อีกอย่างว่า "เนปาลีเกี๊ยวซ่า" ละมั้งครับ
Masala Tea : ชาเครื่องเทศ
เมนูเนปาลีอย่างที่ 2 ที่ผมสั่ง (Momo ผมไม่ได้สั่งครับ ผมไปแย่งพี่หมอชิน เพื่อนใหม่ในทริปนี้ที่กำลังจะเอาเข้าปากมาถ่ายก่อนแป๊บหนึ่ง) คือเครื่องดื่มที่ชื่อว่า Masala tea ครับ รสชาติของเจ้า Masala tea เท่าที่ลิ้นผมบอกคือมันจะคล้าย ๆ กับชานมที่มีกลิ่นของเครื่องเทศ กลิ่นหอมเหมือนจะเผ็ดแต่ก็ไม่เผ็ด ติดจืดนิดหนึ่ง (ซึ่งเป็นปกติในทุกเมนูของที่นี่อยู่แล้วที่อะไร ๆ ก็จืดสำหรับคนไทย) ผมมารู้ภายหลังว่า Masala แปลว่า รวมเครื่องเทศ (Spice mix) ครับ ฉะนั้น Masala tea ก็คือชาดำใส่นมที่ใส่เครื่องเทศแขก ส่วนใหญ่จะเป็นพวกกระวาน กานพลู อบเชย ขิง และพริกไทยดำ ถ้าได้มาที่นี่แนะนำให้ลองดูสักครั้งครับ ถือเป็น 1 ในสุดยอดเมนูสิ้นคิดที่ผมชอบสั่งเวลาอยู่ที่นี่เลย
Lali Guras
พอใกล้จะถึงหมู่บ้าน Ghorapani หุบเขาทั้งหุบก็กลายเป็นสีชมพูอมแดงด้วยสีของดอกไม้ประจำชาติเนปาล Lali guras……..คือชื่อของเขาในภาษาเนปาล Rhododendrons คือชื่อสากลที่คนทั่วโลกเรียก ส่วนบ้านเราเรียกเขาว่า “กุหลาบพันปี”
แดงทั้งแผ่น...เอ๊ย !! แดงทั้งป่าจริง ๆ ครับ สวยมาก ๆ
ผมมาถึง Ghorapani ตอนราว ๆ บ่ายโมงครึ่ง ถ้านับจากตอนที่ออกมาจากหมู่บ้าน Ulleri ตอน 8 โมงครึ่งแล้วละก็ แปลว่าผมใช้เวลา (รวมเวลาแวะกินข้าวแล้ว) ทั้งหมด 5 ชั่วโมงครับ แต่อย่าเอาเวลานี้เป็นมาตรฐานนะครับ เพราะผมเดินเร็วก็จริง แต่ถ้าแวะถ่ายรูปทีนี่ก็นานเหมือนกัน แต่ถ้าดูรวม ๆ เทียบกับเพื่อนคนอื่น ๆ แล้วละก็ถือว่าค่อนข้างเร็วครับ
น่ารักกกกกกกกกกก (ขออย่างนี้ใส่ถุงกลับบ้านที XD)
บางคนอาจจะสงสัยว่าไอ้นี่มันไปเดินป่าแต่ทำไมมันถ่ายมาแต่เด็ก แต่อะไรมาก็ไม่รู้ฟะ !! ไม่ค่อยเห็นจะถ่ายวิว 2 ข้างทางมาเลย อันนี้ผมก็เพิ่งมารู้ตัวตอนมาไล่ดูรูปทีหลังเหมือนกันครับ = =" คงเพราะผมเดินป่าที่ไทยค่อนข้างบ่อย และทางช่วงนี้มันไม่ค่อยต่างจากเส้นทางเดินป่าบ้านเราสักเท่าไร ผมเลยไม่เคยตื่นเต้น หรือสนใจมากนัก (แต่สวยนะ อันนี้ยืนยันได้) ต่างจากเด็ก ๆ ที่แต่ละคน แต่ละที่จะมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ประจำตัวที่แตกต่างกันไป ทำให้มองได้ไม่เบื่อ แต่ไม่ต้องห่วงครับ เดี๋ยวรอวันหลัง ๆ รับรองว่าผมจะให้เห็นความ "อลัง" ของหิมาลัยกันยาว ๆ เลย
ดวงตาแห่งปัญญา
Buddha Eye หรือ The eye of wisdom คือชื่อเรียกของเจดีย์ที่มีดวงตาประดับอยู่ทั้ง 4 ทิศ ซึ่งจะพบได้ทั่วไปที่นี่ครับ เท่าที่ผมหาข้อมูลมาดวงตานี้มีความหมายอยู่ 2 นัยครับ นัยหนึ่งคือแทนดวงตาของพระพุทธเจ้าที่เฝ้ามองปกปักษ์รักษาผู้คนทั้ง 4 ทิศ อีกนัยหนึ่งคือเพื่อเตือนให้คนมองทุกสิ่งด้วยสติและปัญญา มองทะลุผ่านอคติ ความโลภ โกรธ หลง ซึ่งจะนำเราไปสู่ความชั่วร้าย
Companion of Destiny
"คนประเภทเดียวกัน มักจะดึงดูดเข้าหากัน" ขออนุญาตแนะนำเพื่อนครับ ก่อนหน้านี้ผมใช้คำว่า "เพื่อนใหม่" มาตลอด แต่จริง ๆ แล้วทุกคนมีชื่อกันนะครับ (ก็แหงสิ) ไล่จากซ้ายสุดคือ พี่ง้วน พี่บอย พี่โอม และพี่บึ้ง (ส่วนผมชื่อ ปาล์ม ครับ ขออภัยที่แนะนำตัวช้า) พวกเราทั้ง 5 คน เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งครับคือ "มาเองคนเดียว" เพราะ "หาเพื่อนมาด้วยไม่ได้" เลยอาศัยมาแจมกับ Agency ที่จัดพามาเหมือนกัน และก็ได้มาเป็นเพื่อนกันที่นี่ แต่จริง ๆ แล้วพวกเราเคยคุยกันมาก่อนตั้งแต่ยังไม่ได้รู้จักกันครับ ??? งงอะดิ ใช่ไหมครับ 55+ คือพวกเราบางคนเคยคุยกันมาก่อนในกระทู้หาเพื่อนมา ABC ใน Pantip เมื่อปีที่แล้วครับ (พี่บอยเป็นคนตั้งกระทู้) และตอนนั้นพวกเราต่างก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะถ้าไม่ใช้บัตรผ่าน ก็ใช้นามแฝงกับรูป Profile ที่สื่อถึงตัวตนกันหมด แล้วก็เพิ่ีงมารู้ ตอนได้มาเดินคุยกัน เมื่อสักครู่นี่เองครับ 555
กระทู้แห่งโชคชะตา http://pantip.com/topic/32800235
ณ อุทยานนี้งามด้วยกุหลาบพันปี
ออกมาเดินเวิ่นเว้อถ่ายรูปซะหน่อย
รูปนี้เป็นรูปรวมเพื่อนใหม่ไม่กี่รูปที่ผมมีครับ (จริง ๆ ยังไม่ครบคนด้วย) จะบอกว่าแทบทุกคนในรูปนี้ฉายเดี่ยวมาเองคนเดียวครับ ทุกคนมาจากต่างที่ต่างทาง ต่างสายงานที่แทบจะไม่น่าจะรู้จักกันได้ แต่เราก็ได้มารู้จักกัน...เพราะพวกเรา "หลงใหล" ในสิ่งเดียวกัน "หิมาลัย"
เรื่องมหัศจรรย์ในวงน้ำข้าวหมัก
ที่พักของผมคืนนี้มีชื่อว่า Nice view lodge ครับ อยู่บนเนินใกล้ ๆ กับทางขึ้น Poon Hill พอดีเลย ห้องพักที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบห้อง 2 คน และในห้องจะมีหน้าต่างบานใหญ่ 1 บาน ที่สามารถมองเห็นยอดเขา Annapurna I กับ Annapurna south เป้าหมายของเราได้ชัดมาก ๆ อ้อ...ลืมแนะนำ Roommate ครับ มิตรสหายเสื้อแดงที่นั่งอยู่บนเตียงนั้นชื่อ "นัท" ครับ ข้อมูลส่วนตัวเท่าที่ผมพอจะเล่าได้คือ นัทอายุเท่ากับผม และมาคนเดียวเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่ผมมาคนเดียว เพราะหาเพื่อนมาด้วยไม่ได้ แต่นัทแอบหนีแฟนมาเที่ยวคนเดียวครับ 555 (อันนี้ไม่แน่ใจว่าเล่าได้หรือเปล่านะ)
หลังจากที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว อากาศก็เย็นลงเร็วมาก ๆ แบบคนละเรื่องกับเมื่อตอนกลางวัน และหมอกก็ไม่รู้มาจากไหนเยอะแยะ จนทำให้วิสัยทัศน์เหลือแค่เมตรกว่าเท่านั้นเอง ราเมศแนะนำให้พวกเรารีบนอนเพราะว่าพรุ่งนี้ต้องออกกันแต่เช้ามืด และเส้นทางวันพรุ่งนี้ก็จะไกลขึ้นกว่าเดิมอีกนิด แต่พวกผู้ชายกลุ่มเรามีนัดดื่มกระชับมิตรกันครับ จริงอยู่ว่าสุราไม่ดีต่อสุขภาพ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหมละครับว่า มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยลดช่องว่างต่อกัน (ลดสติ) และทำให้บทสนทนาคล่องขึ้นเยอะ เสียดายว่าผมไม่ดื่มครับเลยได้แต่นั่งฟังเขาคุยกัน แต่เพียงแค่นั้นก็บันเทิงมากแล้วสำหรับผม คือถึงไม่ดื่มแต่ผมเป็นพวกชอบนั่งฟังเพื่อน ๆ ในวงเหล้าคุยกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้วครับ เพราะเวลาพวกผู้ชายเมาทีไรเนี่ย มักจะ "ขี้โม้" ใส่กันทุกที และลองคิดดูว่าในวงที่ผมกำลังนั่งล้วนมีแต่นักเดินทางตัวยง บทสนทนาส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับว่าก่อนหน้านี้แต่ละคนได้ไปที่ไหนมาบ้าง ได้ไปเจออะไรโหด ๆ มันส์ ๆ มาบ้าง และก็เป็นอย่างที่ผมคาดไว้เลยครับ :] สุราทำให้เรื่องเล่าการเดินทางพื้น ๆ กลายเป็นมหากาพย์สุดอัศจรรย์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
จบบันทึกการเดินทางวันที่ 3...สาระประจำวัน
- Lali guras ไม่ใช่ชื่อภาษาอังกฤษของกุหลาบพันปีนะครับ ชื่อภาษาอังกฤษของเขาคือ Rhododendron
- Lali guras จะบานช่วงมีนาคม-เมษายนเท่านั้นครับ
- ถามราเมศแล้ว เขาบอกว่าดอกมันกินไม่ได้ครับ (แต่จะลองดูก็ได้)
- ชาวเนปาลี Slow Life ยิ่งกว่าฮิบ-สะ-เตอ ไทยยุคนี้อีกครับ (ไม่นับตอนขับรถนะ อันนั้นโหดมาก) ถ้าวันไหนรีบตอนสั่งอาหารตามสั่งแนะนำให้สั่งเหมือน ๆ กันครับ จะได้เร็วขึ้น (นิดหนึ่ง)
- ของกินที่นี่ล้วนติดจืดครับ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ส่วนเครื่องปรุงเขาก็ไม่ค่อยเหมือนบ้านเรา นอกจากซอสมะเขือเทศกับซอสพริกแล้วจะมีอีกอย่างเรียกว่า ซอสพริกเขียว (Green Chili) ครับ แต่จนถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่ามันเอาไว้กินกับอะไร เพราะลองกินกับหลาย ๆ อย่างแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่สักอย่าง = ="
- ตั้งแต่ที่ Ghorepani เป็นต้นไป ถ้าชาร์จ Battery ต้องเสียค่าใช้จ่ายครับ บางที่คิดราคาต่อ 1 อุปกรณ์ (Fully Charge) แต่พอสูงขึ้นเรื่อย ๆ จะเริ่มคิดราคา ต่อชั่วโมง+ต่อ 1 อุปกรณ์
Day 4 : Ghorepani >> Poon Hill >> Tadapani** (Banthanti)
แผนการของวันนี้เริ่มจากตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเดินไปรอพระอาทิตย์ขึ้นบนยอด Poon Hill หลังจากนั้น พอฟ้าเริ่มสว่างก็กลับลงมาเก็บของที่ที่พัก จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังหมู่บ้าน Tadapani จริง ๆ แล้ววันนี้ควรจะเป็น 1 ในวันที่ดี ที่สุดของการเดินทางครั้งนี้ เพราะนอกจากจะได้ขึ้นไปสัมผัสวิวเทือกเขาหิมาลัยแบบ Panorama บนยอด Poon Hill แล้ว ระยะทางวันนี้ก็ไม่ไกลกว่าเมื่อวานเท่าไร แถมยังเป็นทางเดินลงซะเป็นส่วนใหญ่เสียด้วย.....แต่มันกลับเป็นวันที่เลวร้ายที่สุดในทริปสำหรับผม ทำไมนะเหรอครับ ? เรื่องมันมีอยู่ว่า...
จุดเริ่มต้นของความโชคร้าย
เรื่องราวอันแสนเลวร้ายมันเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนหัวค่ำของเมื่อวานนี้ครับ ระหว่างที่พวกเรากำลังทานอาหารค่ำกันอยู่นั้นลุงกมกับราเมศก็ได้นัดหมายผมกับเพื่อน ๆ ว่าพรุ่งนี้เช้าจะแบ่งกลุ่มเพื่อเดินขึ้น Poon Hill เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ออกเดินตอนตี 4 ครึ่ง กับกลุ่มที่ออกตอนตี 5 และให้พวกเราเลือกว่าจะอยู่กลุ่มไหนกัน เหตุผลที่ต้องแบ่งเป็น 2 ช่วง ก็เพราะว่าในแต่ละวันจะมีนักเดินทางจากทั่วโลกขึ้นมาชมแสงเช้าที่ Poon Hill เยอะมาก ๆ ครับ (ย้ำว่าเยอะมาก ๆ) ฉะนั้นเพื่อไม่ให้พวกเราซึ่งมากันหลายคนและส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาด้วยกัน หลงหรือเวิ่นเว้อเดินพล่านไปเรื่อยมากจนเกินไป (นี่เขาหมายถึงตูหรือเปล่าฟะ = =") จึงต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เพื่อให้ราเมศและลุงกมดูแลได้อย่างทั่วถึงครับ หลังจากที่พวกเราได้ปรึกษากัน แทบทั้งหมดจะเลือกออกก่อนตอนตี 4 ครึ่งครับ เพราะรู้ตัวว่าเดินช้ากัน และกลัวจะไปไม่ทันพระอาทิตย์ขึ้น ส่วนผมกับเพื่อนอีกไม่กี่คนที่เป็นสายชิล และรู้ตัวว่าเดินเร็วอยู่แล้ว ยอมเลือกอยู่กลุ่ม 2 (ไม่งั้นมันจะไม่มีกลุ่ม 2 นะสิ = =") ...และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความผิดพลาด
มันผิดพลาดตรงที่ว่าผมประเมินคำว่า "คนขึ้นเยอะมาก" ผิดไปเยอะทีเดียวครับ คือมันเยอะยังกับว่าผมกำลังต่อแถวขึ้นบันไดเลื่อน BTS ในชั่วโมงเร่งด้วยยังไงยังงั้น แล้วก็ต้องค่อย ๆ ไหลตามคนข้างหน้าไปเรื่อย ๆ ทีละนิด...ทีละนิด และที่นี้มันก็ไหลช้ามาก ๆๆๆ ด้วยไง เพราะว่าทางเดินขึ้นค่อนข้างที่จะมืด แคบ และอากาศก็ค่อนข้างที่จะ..ไม่อะ...หนาวมากเลยแหละ เรียกว่าถ้าใครไม่ฟิตนี่ก้าวขาแทบไม่ออกเลยทีเดียว ผมเดินออกมารอเพื่อน ๆ กลุ่ม 2 ตอนตี 4 ครึ่ง ราเมศบอกว่าพระอาทิตย์จะเริ่มขึ้นและฉายแสงทองทาบยอดเขาหิมะตอนราว ๆ 6 โมง และถ้าผมเดินด้วยความเร็วแบบเมื่อวานก็น่าจะใช้เวลาราว ๆ 45 นาที OK น่าจะยังพอมีเวลา แต่จะดีมากถ้าจะสามารถเริ่มเดินตอนนี้ได้เลย ฟ้าที่เริ่มสว่างทำให้ผมเริ่มลน
ฟ้าเริ่มสว่างเร็วกว่าที่คิด นักเดินทางที่อยู่ข้างหน้าเดินช้า (มาก) กว่าที่ผมคิด ทำไมแต่ละคนดูไม่ตื่นเต้นหรือพะวงกับแสงทองที่กำลังจะฉายมาเหมือนที่ผมกำลังคิด จิตวิญญาณช่างภาพข้างในเลยกระตุ้นให้ผมคิดทำในสิ่งที่ไม่ควรคิด นั่นคือ "การใส่เกียร์หมา" ขึ้น Poon Hill
ผมมาถึงเนิน Poon Hill หลังจากที่เลย 6 โมงมาได้สัก 10 นาที แสงยังไม่มาและเจ้าหางปลาก็ยังคงมืดอยู่ โชคดีที่วันนี้พระอาทิตย์ตื่นสาย ผมรู้สึกเหนื่อยเร็วกว่าปกติมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่เมื่อกี้วิ่งขึ้นมาแค่ 10 กว่าเมตรเอง แถมมีปวดหัวและเหมือนจะหน้ามืดอีกด้วย การวิ่งในวิ่งที่ที่อากาศน้อยนี้มันคนละเรื่องการวิ่งแถวบ้านจริง ๆ แนะนำว่าเป็นไปได้อย่าวิ่งนะครับ
คนบนนี้เยอะมากจริง ๆ ครับ ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมกลุ่มเพื่อนที่เป็นตากล้องถึงขอขึ้นมาก่อน คือด้วยความที่ปกติผมชอบไปในที่ที่คนทั่วไปไม่ค่อยจะไปกัน และไม่ค่อยชอบเที่ยวช่วงวันหยุดยาว ทำให้ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า "การแย่งที่ชมวิว" มันเป็นอย่างนี้นี่เอง
แสงเช้าบนยอด Poon Hill
กลายเป็นว่าผมเดาผิดแล้วก็วิ่งมาเหนื่อยเสียเปล่าซะอย่างงั้น ท้องฟ้าเปลี่ยนจากมืดมาสว่างเร็วมากก็จริงครับ แต่พระอาทิตย์ก็เล่นตัวไม่ยอมโผล่ออกมาสักที หลังจากที่ได้หยุดพักนาน ๆ จนเริ่มหายเหนื่อย (นิดหนึ่ง) ผมถึงได้รู้ว่าอากาศบนนี้เย็นมาก และนั่นก็ทำให้การรอให้พระอาทิตย์จอมขี้เกียจโผล่พ้นยอดเขาเป็นเรื่องที่แสนทรมาน
และแล้วประมาณ 06.30น. พระอาทิตย์เขาก็ค่อย ๆ โผล่พ้นเทือกเขา Annapurna มาจนได้ จากทางด้านหลังของเจ้าหางปลาไกล ๆ ทางขวามือ และแสงของพระอาทิตย์ก็ค่อย ๆ ย้อมสีขาวของหิมะบนยอดเขาต่าง ๆ ทีละยอด ๆ จนกลายเป็นสีทองทั้งหมด !!!
มุมนี้จะเห็นยอดเขาของเทือกเขา Annapurna อยู่ 5 ยอดนะครับ อาจจะดูยากหน่อย จากซ้าย คือ Dhaulagiri II, Dhaulagiri, Dhaulagiri I (ยอดที่ดูสูงกว่าเพื่อน), Tukuche และ Dhampus
นั่งปลดปล่อยความคิดไปกับลมกับฟ้า... (ข้างหน้าสูง ๆ นั้นคือยอด Dhaulagiri I ครับ)
มุมนี้จะเห็นทั้งหมด 6 ยอดครับ ไล่จากซ้าย Nilgiri south, Annapurna I (ที่ที่เรากำลังจะไป), Annapurna I (ยอดที่สูงที่สุด), Hiunchuli, Gangapurna (ยอดดำ ๆ ข้างหน้า) และสุดท้ายแน่นอน :] "เจ้าหางปลา" Machhapuchhre
มันคงจะแปลก ๆ ที่อุตส่าห์มาถึงที่นี่แล้วไม่ถ่ายมุมนี้กับป้ายนี้ :]
Free Fall
มันเขี้ยว
Awkward Moment เมื่อคิดว่าควรจะห้ามเจ้าหมาดีไหม แต่คิดไปคิดมา ผมว่าหมาก็คือหมา มันไม่รู้ว่ามันกำลังทำอะไร แล้วพระพุทธเจ้าก็สอนไม่ให้ "ยึดมั่น ถือมั่น" นี่เนอะ
อิจฉา ตาอบอุ่น
หมอชิน กับหมอพลอย เพื่อนร่วมทริป ที่ช่วยให้พวกเราหมู่ผู้ชายรู้สึกหายหนาว โดยการช่วยสร้างความร้อนออกมาจากดวงตาของพวกเรา
"พี่...ผมอยากถ่ายรูปคู่กับเจ้าหมาอะ พี่ไปเป็นแบบให้ผมแป๊บดิ"
"ได้ ๆ"
พี่โอมคือผู้ชายมาดเท่ ที่ใจดีและไม่ติดสำอาง ว่าแต่ท่าโพสนั้นมันอะไรกัน @____@
ไอ้ยอดแหลม ๆ นั้นนะ..."เดี๋ยวเจอกัน" (จริง ๆ ไปถึงแค่ Base Camp ;p)
"และถึงแม้วันนี้จะได้รับชัยชนะ แต่อุปสรรคและหนทางแห่งความสงบยังเหลืออีกยาวไกล...สู้ต่อไปทาเคชิ !!!" (เอ้า !! เพลงมา)
ดอก Lali Guras แบบใกล้ ๆ
บันไดเดินลงของสุนัขป่า
"หนูชอบเดินลงบันได...เวลาที่เจอบันไดกับบันไดเลื่อนอยู่คู่กันเหมือนตอนนี้ หนูจะเลือกเดินลงบันได" คำพูดที่ผมได้ฟังเมื่อนานมาแล้วจากปากของน้องคนหนึ่งที่ผมสนิทมากสมัยที่ยังเป็นนิสิต ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมผมถึงฝังใจกับคำพูดประโยคนี้ เพราะจริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงแค่ประโยคแสดงความคิดเห็นธรรมดา ๆ และก็ไม่ได้คมคายหรือมีความหมายลึกซึ้งอะไรเลย....แต่นับตั้งแต่วันนั้นทุกครั้งที่ผมเจอบันไดเดินลงที่ทอดยาวเหมือนเช่นตอนนี้ ผมจะนึกถึงน้องคนนั้น คิดถึงคำพูดของเธอในวันนั้น และถ้าวันไหนผมเจอบันไดลงที่พาดคู่กับบันไดเลื่อนอย่างที่บนสถานี BTS…ผมจะเลือกเดินลงบันไดเสมอ
"เธอเคยเห็นทุ่งข้าวสาลีฝั่งโน้นไหม ฉันไม่กินขนมปัง ข้าวสาลีไม่มีความหมายต่อฉัน ทุ่งข้าวสาลีพวกนั้นไม่ทำให้ฉันนึกถึงอะไร นี่เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่เพราะเธอมีเส้นผมสีทอง ดังนั้นหากเธอทำให้ฉันเชื่องจะเป็นเรื่องที่ดีมาก รวงข้าวสาลีสีเหลืองพวกนั้นจะทำให้ฉันนึกถึงเธอ และฉันจะชื่นชอบเสียงลมที่พัดผ่านทุ่งข้าวสาลี…" สุนัขป่าบอกกับเจ้าชายน้อย
หลงทางไม่เสีย (ดาย) เวลา
ความซวยอย่างที่ 2 ของวันนี้คือ "ผมหลงทาง" ครับ การวิ่งหน้าตั้งในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,000 เมตร เมื่อเช้านี้ทำให้ร่างกายผมได้รับออกซิเจนไม่พอและส่งผลให้เช้านี้ผมปวดหัวและเบลอ ๆ เหม่อลอย (กว่าปกติ) มากทีเดียว...พอตอนเดินลงจาก Poon Hill ผมซึ่งก็ลงมาเป็นกลุ่มสุดท้ายเพราะมัวแต่ถ่ายรูป ก็เดินแบบงง ๆ เบลอ ๆ ไม่ค่อยมีสติมาเรื่อย ๆ .พอรู้ตัวอีกที เออ.....ที่นี่ที่ไหน ? แล้วคนอื่นไปไหนกัน ? ถ้าไม่ใช่เพราะตอนขามามันมืดมาก ผมก็คงจะรีบมาก ๆ จนไม่ทันสังเกตว่า Poon Hill มันมีทางแยกขึ้นมา 2 ทางครับ คือทาง Upper Ghorepani (หมู่บ้านช่วงบน) ทางที่ผมมา และ Lower Ghorepani (หมู่บ้านช่วงล่าง) และดูเหมือนว่าตอนนี้ผมจะเดินลงทางเส้นหลังอยู่คนเดียว ผมหลงมาไกลแค่ไหนไม่รู้ รู้แต่ว่าตอนนี้ผมเกือบจะถึง Lower Ghorepani แล้ว และก็เห็นที่พักของผมอยู่ห่างออกไปไกล ๆ บนเนินเขาทางด้านซ้ายมือ นี่ตูต้องใช้พลังงานกว่าครึ่งตั้งแต่ยังไม่ 9 โมง แถมยังไม่ได้เริ่มออกเดินเลยหรือนี่ !!!
ณ เวลานี้ผมทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมรับสภาพ แต่จริง ๆ แล้วผมก็ไม่ได้เครียดที่หลงทางเท่าไรหรอกนะ ทำไมนะเหรอ ? ดูวิวสิครับ :]
วันนี้ผมเริ่มออกเดินอีกครั้งตอน 9 โมงกว่า ๆ ก่อนหน้านี้ผมบอกว่าทางส่วนใหญ่ของวันนี้เป็นทางลงใช่ไหมครับ ? แต่ก่อนหน้านั้นเราจะต้องปีนขึ้นเนินเนินหนึ่งและเดินไต่ไปตามสันเขาก่อนระยะหนึ่ง เนินนี้ไม่ค่อยสูงมากครับ แต่ก็แอบชันเบา ๆ และทำให้เหนื่อยไม่ใช่เล่น หลังจากที่เริ่มออกเดิน ท้องฟ้าที่เห็นใส ๆ เมื่อเช้าตอนขึ้น Poon Hill ตอนนี้กลายเป็นฟ้า-ขาว อาร์เจนตินาไปเรียบร้อยแล้ว และก็มีกลิ่นชื้น ๆ คล้ายกับว่าฝนจะตกด้วย อย่างไรก็ตามพวกเราไม่มีแผนเผื่อฝนตกหรอกนะครับ ยังไงพวกเราก็ต้องมุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว
ชันโคตรครับ บอกเลย
ที่พักบนยอดเนินที่เราต้องข้าม ข้างบนนี้เป็นภูเขาหญ้าที่มีสันยาว ๆ แบบสันคมมีดที่เขาช้างเผือกเลยครับ สวยมาก และก็สามารถมองเห็นหุบเขาได้ 360 องศา ที่ตอนนี้กลายเป็นสีชมพูอมแดงด้วยสีของดอก Lali guras ด้วย
ธงมนต์ยังคงปลิวไสว เมื่อต้องลม
คุณแม่ยังสาวกับลูกชายจ้ำม่ำที่เจอที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ตอนพักกินข้าวเที่ยง
AMS : Acute Mountain Sickness (โรคแพ้ความสูง)
อาการปวดหัวและมึนงงของผมดูเหมือนจะแย่ลง เพราะตอนนี้รู้สึกเหมือนจะมีอาการใจสั่นเพิ่มขึ้นมาด้วย ผมค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะเป็นอาการของ AMS แน่ ๆ ตอนพักทานข้าวเที่ยงผมเลยขอยา Diamox จากพี่หมอปอย คุณหมอสาวนักเดินทางที่ฉายเดี่ยวมาคนเดียวเหมือนกัน (ก่อนหน้านี้เธอไป Solo Everest best camp มาด้วยครับ โหดมาก ๆ) จริง ๆ ยาตัวนี้ควรกินล่วงหน้า 2-3 วัน ก่อนจะขึ้นที่สูงครับ แต่ผมหาซื้อที่ไทยไม่ได้ และก็ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องใช้เลยไม่ได้เตรียมมา พอทานแล้วผมรู้สึกเหมือนจะดีขึ้นหน่อย ดีขึ้นจริงหรือเปล่าอันนี้จริง ๆ ก็ไม่ค่อยแน่ใจ รู้แต่ว่าตอนนี้ผมกังวลน้อยลงมาก (เอาน่า !! ยังไงก็ได้กินยาที่ได้จากหมอแล้ว ยังไงก็รอดแหละ) พวกเราเริ่มเดินทางต่ออีกครั้งตอนบ่าย 2 กว่า ๆ ตอนนี้ท้องฟ้าที่ดูขาว ๆ เมื่อเช้ามันเริ่มไม่ขาวแล้วครับ มันเริ่มเทาครึ้มจนเห็นได้ชัด และกลิ่นเย็นชื้น ๆ ของลมที่ลอยเข้าจมูกมา ทำให้ผมมั่นใจไปกว่า 150 เปอร์เซ็นต์ ว่า "มาแน่ เดี๋ยวมันต้องมาแน่ ๆ" เสื้อกันฝนของแต่ละคนที่ซื้อมาเผื่อจากย่านทาเมล ถูกดึงออกมาจากกระเป๋าเป้ พวกเราสวมทับมันไว้ทั้งตัวและกระเป๋า จากนั้นก็เริ่มออกเดินอีกครั้ง
กระท่อมน้อยริมน้ำตกที่เจอระหว่างทาง ของจริงสวยและน่าอยู่มากครับ
ฝนลูกเห็บ
โดยไม่มีเสียงฟ้าร้อง ไม่ลม ไม่มีละอองน้ำอะไรมาเตือนก่อนเลย จู่ ๆ ฟ้าก็ถล่มลงมาจนพวกเราวงแตก แยกย้ายวิ่งเข้าหาที่กำบังกันคนละทิศละทาง ผมทายถูกครับว่า "มันต้องตกแน่ ๆ" แต่ก็ทาย "ผิด" เพราะว่าจริง ๆ แล้วไอ้ที่กำลังร่วงลงมาอย่างกับห่าปืนกลนี้มันไม่ใช่ฝนครับ !! แต่มันคือลูกเห็บ (Hail) ขนาดเท่ากับเม็ดทับทิม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเห็นลูกเห็บ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นว่า "ไอ้ที่ตกอยู่นี่มันลูกเห็บล้วน ๆ ไม่ใช่ฝนเลยแม้แต่เม็ดเดียว"
ผมวิ่งตามพี่บึ้ง พี่โอม และพี่บอย จนมาเจอเพิงหินเล็ก ๆ ก้อนหนึ่ง เพิงหินนี้มีที่กว้างพอสำหรับคนแค่ 3 คนเท่านั้นจริง ๆ ครับ แต่พวกเราก็ต้องแบ่งที่ให้มันพอสำหรับ 4 คนให้ได้ เพราะยังไงพวกเราก็มาด้วยกัน 4 คน การทิ้งใครคนใดคนหนึ่งให้ยืนตากฝนลูกเห็บ ในขณะที่อีก 3 คน อยู่ในร่มจึงไม่เคยอยู่ในตัวเลือก
Cr. รูปจากกล้องพี่บอย
การตัดสินใจกลางสายฝน
ในหลาย ๆ สถานการณ์ที่ต้องเลือก บางครั้งตัวเลือกที่เราเลือก เราไม่ได้เลือกเพราะว่าเราอยากจะเลือกแต่เพราะว่ามันจำเป็นต้องเลือก อาการมึนหัวและหัวใจเต้นแรงของผมเริ่มหนักขึ้นอีกครั้ง บางทีอาจเพราะเมื่อกี้ผมวิ่งมากเกินไป (อีกแล้ว) ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันหายดี และมันก็หนักขึ้นเรื่อย ๆ พอ ๆ กับลูกเห็บสีขาวที่กำลังร่วงหล่นอยู่ตอนนี้ ยิ่งเวลาผ่านไปเพื่อนที่อยู่ด้านหลังก็ค่อย ๆ ตามมาสมทบเรื่อย ๆ และทุกคนที่มาถึงตรงนี้ ก็จะขอแวะเข้ามาหลบ ตรงใต้ชะง่อนหินขนาด 3 คนนี้ด้วยเพราะลูกเห็บช่วงนี้มันตกหนักและแรงมากจริง ๆ
"ชะง่อนหินเริ่มไม่พอสำหรับพวกเราทุกคน" ผมคิดในใจ "นาทีนี้จำเป็นจะต้องมีผู้เสียสละ" ผมบอกกับตัวเองอีกครั้ง และเพราะว่าผมบอกกับตัวเองคนเดียวในใจ ฉะนั้นคนตอบและอาสาไปต่อก็เลยมีอยู่แค่คนเดียว
ดูเหมือนผมจะไม่ใช่คนเดียวที่เลือกไปต่อ 5555
เดินมาได้สักพักก็มาเจอกับแก๊งพี่ลูกหาบของคณะเรากำลังยืนสั่นหลบลูกเห็บอยู่ในเพิงพักใต้ชะง่อนหินขนาดใหญ่ อ้อ...มันมีเพิงใหญ่อยู่ไม่ไกลนี่หว่า ถึงว่าพวกพี่เดินจ้ำเอา ๆ ไม่กลัวลูกเห็บกันเลย
Banthanti, หมู่บ้านกลางหุบเขา
ผมพาร่างกายที่เหนื่อยอ่อน เปียกปอน และปวดศีรษะมาจนถึงที่หมายตอน 4 โมงกว่า ๆ แต่ "ที่หมาย" ที่ผมกำลังพูดถึงนี้ ไม่ใช่หมู่บ้าน Tadapani ที่ตั้งใจไว้แต่แรกนะครับ แต่เป็น Banthanti หมู่บ้านก่อนถึง Tadapani เราต้องเปลี่ยนแผนที่พักในคืนนี้ เพราะฝนลูกเห็บทำให้พวกเราเดินได้ช้ากว่ากำหนด แม้จะมีบางคนที่สามารถเดินให้ถึงที่หมายตามเวลาได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน และเราไม่สามารถทิ้งใครคนใดคนหนึ่งไว้ได้
Banthanti เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่ในหุบเขาครับ ปกติ Trekker จะไม่ค่อยนิยมพักกันที่นี่เท่าไร เพราะมีแค่ร้านค้าเล็ก ๆ ไม่มี Wi-Fi และโดยปกติถ้าเดินทางมาจาก Ghorepani แต่เช้า ถ้าฝนไม่ตกหนักหรือเกิดปัญหาอะไร ยังไงก็สามารถไปถึงหมู่บ้าน Tadapani ซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่ก่อนค่ำทันอยู่แล้ว
ห้องนอนของที่พักคืนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นห้อง 2 คน ที่มีแค่เตียง 2 เตียง โต๊ะ 1 ตัว หน้าต่างไม้ และที่สำคัญคือมี "ช่องลม" ที่ใหญ่มาก ๆ ทั้งด้านหน้าห้องและหลัง ทำให้อากาศอุณหภูมิ 4-5 องศา (และน่าจะน้อยกว่านี้ตอนดึก ๆ) จากภายนอกเข้ามาเล่นงานเราเต็ม ๆ ตลอดทั้งคืน จนหลาย ๆ คนนอนแทบไม่หลับ ผมรีบพุ่งลงเตียงและซุกตัวในถุงนอนทันทีที่ได้ห้อง เพราะวันนี้ผมเหนื่อยจากการเจอเรื่องหนัก ๆ มาทั้งวัน แต่ถึงแม้ว่าผมจะเหนื่อยอ่อนขนาดไหนก็ตาม ตัวที่เปียกชื้นและลมเย็นของช่องเขาช่วงก่อนค่ำ มันทำให้ผมหนาวเกินกว่าที่ผมจะหลับตาลงได้ ผมต้องการความอบอุ่น และที่เดียวของที่นี่ที่พอจะมีความอบอุ่นบ้างก็คือรอบ ๆ เตาไฟในโรงครัว … "ไหน ๆ ก็นอนไม่หลับอยู่แล้ว ออกมาเก็บภาพไว้มาเล่าเรื่องดีกว่า"
F_cking Bad Moment
นี่คือรูปใบสุดท้ายที่ผมได้ถ่ายในเย็นวันนั้น ตอนแรกผมตั้งใจจะถ่ายรูปนี้เพื่อที่จะมาเล่าให้ฟังว่าในช่วงอากาศเย็น ๆ ตอนเย็นกลางหุบเขาที่ไม่มีทั้งโทรทัศน์และสัญญาณ Wi-Fi คนที่นี่จะชอบมานั่งล้อมวงคุยกันข้างเตาไฟครับ ผมไม่รู้หรอกว่าเขาคุยอะไรกัน แต่ฟังจากเสียงหัวเราะมันน่าจะเป็นเรื่องสนุก ๆ แน่ ๆ ผมยกลูกชาย (6D) ขึ้นมาทาบตา ค่อนข้างมืดแฮะ iso สัก 800 ละกัน ภาพลึกไม่มากเอาสัก f5.6 shutter speed ให้กล้องตั้งให้ (av mode) focus ที่พี่ข้างหลังเตา อ้าว…เฮ้ย !! อาการง่วง ปวดหัว และหนาวผมหายเป็นปลิดทิ้ง แล้วแทนที่ด้วยความตกใจและเครียดสุดขีด เมื่อพบว่าเจ้าลูกชายของผมเลือกจุด Focus ไม่ได้ !! แถม Display ยังวิ่งไม่ยอมหยุด !!!! อาการอย่างนี้เป็นได้อย่างเดียวคือ "ลัดวงจร" แน่นอน และสาเหตุก็น่าจะเพราะผมถ่ายรูปกลางฝนลูกเห็บแล้วน่าจะมีบางลูกที่เกาะติดกล้องแล้วละลายไหลเข้าไปในตัวกล้อง
วันนี้ผมเจอเรื่องร้าย ๆ มาทั้งวัน เกิดแพ้ความสูงตั้งแต่เช้า เดินหลงทางไปเสียไกล ต้องเดินฝ่าลูกเห็บเป็นชั่วโมง ๆ เปียกปอนไปทั้งตัวและสัมภาระและดูเหมือนจะเป็นไข้...แต่ทั้งหมดนี้มันเทียบไม่ได้เลยกับการได้ลูกชายที่เก็บเงินมากว่าครึ่งปี เกิดเจ๊งในที่ที่ไม่สามารถเอาไปส่งซ่อมได้ทันที แถมยังต้องแบกเขาไปจนจบ Trip (อีก 6 วัน) ทั้ง ๆ ที่ไม่สามารถใช้ได้ด้วย ผมจำไม่ได้ว่าผมทำสถิติไม่เสียน้ำตาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ แต่วันนี้ผมต้องเริ่มนับ 1 ใหม่อีกครั้ง
มิตรภาพจากเพื่อนร่วมทาง (บันทึกหน้านี้ไม่มีรูป เพราะกล้องพังไปแล้ว)
หลาย ๆ ครั้งเวลาที่เราเสียใจมาก ๆ เรามักจะจมปลักอยู่กับมันเสียนานจนลืมไปว่าเราไม่สามารถกลับไปแก้สิ่งที่ผ่านมาแล้วได้ และสิ่งที่ควรจะทำจริง ๆ ก็คือ "คิด" ว่าควรจะทำยังไงต่อจากนี้ จะแก้ไขมัน...จะป้องกันให้ไม่แย่ไปกว่านี้.....หรือพยายามยอมรับเพื่อที่จะอยู่กับมันให้ได้ ในฐานะคนที่ชอบถ่ายรูปคนหนึ่ง จริง ๆ ผมรู้ว่าสิ่งที่ต้องรีบทำทันทีเป็นอย่างแรกคือหาทางไล่ความชื้นออกจากข้างในกล้องให้เร็วที่สุด แต่ด้วยอารมณ์และสภาพร่างกายในตอนนั้น ผมไม่นึกอยากจะทำอะไรแม้แต่น้อย โชคดีที่พี่บอยสังเกตเห็นว่าผมเครียดผิดสังเกต ทุกคนถึงได้รู้ว่าผมมีปัญหา บางคนเข้ามาปลอบให้หายเครียด บางคนเข้ามาช่วยดึงสติที่ตอนนี้คงหลุดไปถึงชั้นบรรยากาศแล้ว และบางคนก็ช่วยคิดหาทางซ่อมกล้อง
พี่โอม : เอาออกมาเช็ดได้ไหม (ไม่ได้ครับพี่ มันเปียกในวงจรด้านใน)
พี่บอย : เอาไปผึ่งบนเตาได้ไหม (อันนั้นยิ่งเร่งให้พังเร็วเลยครับพี่ !!!!)
นัท : เอาซิลิกาเจลมาสุมได้ไหม เดียวเราไปขอของคนอื่นมาให้ (ได้แหละแต่มันต้องใช้เยอะมาก ๆ ถ้าให้ดีเอาไปแช่ในถังข้าวสารจะดีกว่า...เออทำไมคิดออกนะ !!)
และก็ต้องขอบคุณพี่หมอชินที่ช่วยไปคุยกับเจ้าของโรงแรมให้ ทำให้รู้ว่าที่นี่ก็มีถังข้าวสารอยู่ และเขาก็อนุญาตให้ผมเอากล้องไปหมกแช่ไว้ได้ คืนนั้นผมนอนไม่หลับทั้งคืน รอลุ้นว่าพรุ่งนี้เจ้าลูกชายสุดที่รักจะอาการดีขึ้นไหม แต่ผมเชื่อจากส่วนลึกจริง ๆ นะว่ามันจะต้องดีขึ้น
จบบันทึกการเดินทางวันที่ 4...สาระประจำวัน
- พระอาทิตย์ที่ Poon Hill ขึ้นตอนราว ๆ 6 โมงครึ่ง
- คนขึ้นเยอะมากครับ แนะนำออกก่อนได้ให้เดินมาก่อนเลย
- ค่าขึ้น Poon Hill ราคา 150 เนปาลรูปี (50 บาท)
- มุมที่ผมคิดว่าสวยที่สุดคือจากบนหอชมวิวครับ แต่คิดว่าแค่ตรงชั้นลอยก็พอ เพราะถ้าอยู่ข้างล่างจะถ่ายรูปติดหัวคนเต็มไปหมด แต่ถ้าขึ้นไปบนสุดของหอคอยเลย คนจะแน่นเปลี่ยนมุมไม่ค่อยสะดวก ถ้าอยู่ตรงเหลี่ยมตรงชั้นลอย จะได้ Background เป็นเทือกเขา Annapurna ด้วยได้ Foreground เป็นเนิน Poon Hill ด้วย
- ***สำคัญมาก อาการแพ้ความสูง (AMS) จะเรียกว่าโรคดวงก็ได้ เพราะมันไม่เกี่ยวว่าเราแข็งแรงหรือไม่แข็งแรง แต่ส่วนหนึ่งเกิดการ Over Activity (บ้าพลัง) บนที่สูงซึ่งมีปริมาณออกซิเจนในอากาศน้อย ทำให้ร่างกายรับเข้าไปใช้ไม่ทันครับ ฉะนั้นแนะนำว่าอยู่บนนี้พยายามอย่าระห่ำเกินไปนัก
- อาการหลัก ๆ ของ AMS ขั้นเริ่มต้นคือปวดหัว มึนศีรษะ เพลีย เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว (ต้องการออกซิเจน)
- ทางแก้คือกินยา Diamox ครับ อาจจะหาซื้อตามร้านขายยายากนิดหนึ่ง ยานี้จะทำให้ร่างกายเราต้องการออกซิเจนน้อยลงครับ (หมอว่างั้นนะ) และจริง ๆ ควรจะกินก่อนมา 2-3 วัน และกินต่อเนื่องทุกวันเช้า-เย็น ฉะนั้นซื้อมาสัก 1-2 แผง ดีกว่าครับ
- แต่ ๆๆๆ Diamox ก็มีผลข้างเคียงนะครับ คือเพลีย อ่อนแรง ฉี่บ่อย และอันนี้เป็นบางคน แต่ผมเป็นและหนักด้วย คือมือชาครับ (ผมชาไป 2-3 วัน เลยหลังกลับมา)
- อันนี้ลูกหาบบอกนะครับไม่ใช่คุณหมอบอก เขาบอกว่าไม่ควรนอนกลางวันครับ เพราะจะเสี่ยงให้เกิดอาการ AMS
- ซื้อเสื้อกันฝนไว้เถิดจะเกิดผล ริจะเป็นนักเดินป่าควรมีติดกระเป๋าไว้ตลอดเวลาครับ ได้ใช้บ่อยแน่ ๆ โดยเฉพาะที่นี่ และนักเดินป่าขาประจำส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักจะใช้เสื้อกันฝนแทนเสื้อกันหนาว (ในลักษณะหนาวลม) ครับ มันกันลมได้ดีจริง ๆ
- ในกรณีกล้องโดนน้ำหรือโดนฝนหนัก ๆ แนะนำว่าอย่าพยายามรั้นใช้ (เหมือนผม T^T) ครับ เดียวมันจะช็อต และรีบหาทางเอาความชื้นออกให้เร็วที่สุด เช่น หมกในถังข้าวสารครับ วิธีนี้ได้ผลดีมาก ๆ
Day 5 : Banthanti ->>Tadapani >> Chomrong
เมื่อคืนนี้ผมนอนไม่หลับเลยสักนิดเพราะใจมันพะวงแต่เรื่องกล้อง แต่ถึงจะกังวลแค่ไหน ผมก็ตั้งปณิธานไว้ครับว่าจะไม่ลุกมาดูมันจนกว่าจะถึง 6 โมงเช้าวันนี้ สิ่งเดียวที่ผมทำได้คือ หลับตารอฟังเสียงว่าเมื่อไหร่ นาฬิกาปลุกจากมือถือที่ตั้งไว้จะดังสักที เหลืออีก 4 ชั่วโมง...เหลืออีก 2 ชั่วโมง....เหลืออีกครึ่งชั่วโมง....อีก 5 นาที ลุกเลยละกัน !!! ผมเชื่อว่ามาถึงตรงนี้หลายคงจะเดาได้แต่แรกแล้วว่าผลออกมาเป็นยังไง เพราะถ้าเกิดว่ากล้องเจ๊งจริง ๆ ผมก็คงไม่อาจเขียนรีวิวต่อได้ ลองมานึกย้อนดูอีกทีผมว่าการที่ลูกชายผม (เกือบ) เจ๊งครั้งนี้มันอาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ เพราะถ้าไม่เกิดเรื่องนี้ขึ้น ผมก็คงจะใช้เจ้าลูกชายอย่างไม่ค่อยถนอมอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ และผมก็คงไม่ได้รู้ว่าผมมี "เพื่อนร่วมทาง" ที่ดีมากแค่ไหน
ถ้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ตอนแรก ระยะทางของวันนี้จะไกลกว่าเมื่อวานนิดหน่อยครับ แต่เนื่องจากว่าเราไปไม่ถึง Chomrong ทำให้ต้องบวกเพิ่มไปอีก 1.5 ชม. (ที่นี่เขาไม่นับระยะทางเป็นกิโลเมตรนะ เขานับเป็นรายชั่วโมงเอา) เส้นทางของวันนี้ค่อนข้างเหนื่อยครับ เพราะเราต้องขึ้นสุดลงสุดเขาหลายลูกมาก จะมีตอนท้าย ๆ ที่จะได้เดินราบ ๆ เลาะนาขั้นบันไดไปเรื่อย ๆ แต่อย่างไรผมก็ชอบเส้นทางวันนี้นะ เพราะเราจะได้ทั้งฝ่าป่าดิบ ข้ามธารน้ำ และน้ำตก ข้ามสะพานข้ามหน้าผา ภูเขาหญ้า และนาขั้นบันไดครบเลย
ลองเอาเจ้าลูกชายออกมาทดสอบ นี่คือหมู่บ้าน Banthanti ที่ผมพักเมื่อคืนครับ ฝั่งหนึ่งเป็นหน้าผาสูงมาก ๆ อีกฝั่งเป็นเนินเขาที่เต็มไปด้วยต้น Lali guras ใต้หน้าผาจะมีสวนผักกาดอยู่ 2 แปลง และกลางหมู่บ้านจะมีธารน้ำเล็ก ๆ ไหลผ่าน ถ้าไม่ติดเรื่องความหนาวโคตร ๆ ผมว่าเป็นหมู่บ้านที่น่ามาพักเลยแหละ
Duffle Bag
พี่ลูกหาบของเราจะแบกของในลักษณะนี้ครับ เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึงควรใช้กระเป๋า Duffle bag หรือกระเป๋าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพราะมันจะแบกง่าย กระเป๋า Duffle bag หาซื้อง่าย ๆ ได้ที่เนปาลครับ ถ้าติดต่อไกด์หรือลูกหาบล่วงหน้าจะฝากเขาซื้อก็ได้
Ps. บุคคลในรูปไม่ใช่ลูกหาบนะครับ นั่นพี่บอย
ถ้าจำไม่ผิดยอดนี้น่าจะเป็น Annapurna South
อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าเส้นทางของวันนี้มันสวยมาก ๆ เพื่อน ๆ ของเราส่วนใหญ่ที่ปกติก็เดินช้าอยู่ วันนี้เลยยิ่งช้าเข้าไปใหญ่ พอผมมาถึงที่หมู่บ้าน Tadapani ราเมศบอกให้ผมหยุดพักก่อนเพราะว่าเส้นทางหลังจากนี้จะมีช่วงหนึ่งที่เป็นทางแยกที่นักเดินทางมักจะหลงกันบ่อย ๆ เลยต้องให้หยุดรอ เพื่อที่จะได้พาไปพร้อม ๆ กัน ระหว่างรอผมก็มายืนดูพี่ ๆ ลูกหาบเล่นเกมกระดานสุดฮิตของที่นี่ Carrom Board
Carrom Board
Carrom Board เป็นเกมพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันในแถบเนปาล อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และศรีลังกา ครับ คร่าว ๆ คือกติกาจะคล้าย ๆ กับ Snooker หรือ Pool คือจะต้องใช้นิ้วดีด Striker ให้ไปชนลูกสีแดงที่เรียกว่า Queen ให้ลงก่อน หลังจากนั้นก็ไล่ดีดลูกสีดำหรือขาว (แล้วแต่ว่าอยู่ทีมไหน) ที่เรียกว่า Carrom Men ทั้ง 9 ลูกให้ลงตามลำดับ ฝั่งไหนส่ง "Queen" กับ "Carrom men" ฝั่งตนเข้าช่องได้ครบก่อนจะเป็นฝ่ายชนะไป
Follow your own Step
"ไม่ต้องรีบ เดินตามฝีเท้าของเราก็พอ" ประโยคนี้คือคำพูดจากปากของรุ่นพี่นักเดินป่าคนหนึ่งที่ผมเคารพ และผมมักจะท่องมันเสมอ ๆ เวลาที่เดิน Trek แล้วโดนลูกหาบหรือเพื่อนนักเดินทางคนอื่น ๆ เดินนำ มนุษย์เราไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ และผมเชื่อว่าทุกคนต่างก็มี “นิสัยเสีย” ของตัวเอง ตัวผมเองก็เช่นกัน ผมมีนิสัยเสียอยู่เรื่องหนึ่งครับที่แก้ไม่หายสักทีคือนิสัย “ชอบเอาชนะ" เวลาเดิน Trek ผมมักจะแอบหงุดหงิดอยู่เสมอเวลาที่โดนคนอื่นเดินแซง โดยเฉพาะถ้าคนที่เดินแซงเขาแบกของหนักกว่าผม มันให้ความรู้สึกเหมือนกับโดนท้าทายอ้อม ๆ ว่า "เฮ้ย นายเดินช้าจัง" จากนั้นผมเผลอเร่งฝีเท้าตามหรือแซงทุกที และคู่แข่งของผมในวันนี้ก็ดันเป็น Trekker มืออาชีพประสบการณ์นับ 10 ปี เสียด้วย จริง ๆ ผมก็รู้แหละว่าเขาไม่ได้รีบเดินเพราะจะแข่งกับผมหรอก แต่เขารีบเดินไปจองที่พักให้ผมกับเพื่อน ๆ ต่างหาก และเขาที่ผมกำลังพูดถึงก็ไมใช่ใครครับ "ลุงกม" 1 ใน 2 สุดยอดไกด์ของผมเองครับ
เดินให้ช้าลง เก็บภาพให้มากขึ้น
กว่า 30 นาที ที่ผมพยายามไล่ตามฝีเท้าของลุงกม แต่ไม่ว่าจะเดินเร็วก็แล้ว วิ่งเหยาะ ๆ ก็แล้ว วิ่งจริงจังก็แล้ว ก็ไม่ทันลุงกมสักที ทั้ง ๆ ที่ดูท่าทางแกก็ไม่ได้รีบอะไร บางทีลุงอาจจะเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ หรือผมอาจจะไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ หรืออาจจะทั้ง 2 อย่าง และบางทีผมน่าจะทำในสิ่งที่ผมถนัดมากกว่า นั่นคือการ "เดินให้ช้าลงและเก็บภาพให้มากขึ้น" การหยุดจ้ำทำให้ผมเพึ่งสังเกตเห็นว่าภูมิทัศน์โดยรอบนี้มันโคตรจะสวยเลย
"แล้วตูจะรีบเดินมาทำไมฟะ" นี่ไม่ใช่ประโยคคำถาม...แต่ผม "ด่า" ตัวเอง
New Bridge - Old Bridge
"สิ่งเก่า ๆ" มันน่าหลงใหล เพราะมันมี "เสน่ห์" ของความเป็นต้นตำรับ และ "สิ่งใหม่ ๆ" เองก็มีความน่าหลงใหลจาก "ศักยภาพ" ที่พัฒนามาจากสิ่งเก่า ๆ ระหว่างทางจากหมู่บ้าน Tadapani ไปยัง Chomrong จะมีอยู่ช่วงหนึ่งครับที่ต้องข้ามช่องเขาที่มีสะพาน 2 สะพาน พาดอยู่คู่กัน สะพานหนึ่งเป็นสะพานไม้ อีกสะพานหนึ่งเป็นสะพานเหล็ก ผมเลือกสะพานไม้เพราะถึงแม้ว่าสะพานไม้จะดูมั่นคงน้อยกว่า และเดินสะดวกไม่เท่าสะพานเหล็ก แต่ผมรู้สึกว่าสะพานไม้มันมีกลิ่นไอของการเดินป่ามากกว่า มันให้ความรู้สึกถึงการผจญภัยมากกว่าสะพานเหล็ก
หลังจากข้ามไปแล้วผมยืนเก็บภาพสะพานด้วย canon 6D กล้อง Full frame DSLR ลูกชายสุดรักกว่า 10 นาที และรอดูว่าจะมีคนคิดเหมือนผมสักกี่คน สิ่งที่ผมพบคือนอกจากผมกับคุณยายชาวเนปาลีอีกคนแล้ว ทุกคนล้วนเลือกที่จะข้ามสะพานเหล็ก แต่ละคนมีสิ่งที่ชอบและเหตุผลที่ชอบต่างกัน แสงแดดที่แรงขึ้นทำให้ผมรู้สึกตัวว่าผมควรจะรีบเดินต่อได้แล้ว ผมเดินผ่านนักเดินทางกลุ่มหนึ่งที่กำลังถ่ายรูปหมู่กันตรงคอสะพานเหล็ก เราทักทายกันจนพอรู้ว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน และผมแอบเห็นว่าคนที่เป็นตากล้อง ใช้ "กล้องฟิล์ม"
ความใจดีที่เป็นพิษ
"แคนดี้ แคนดี้" เด็กชายท่าทางมอมแมม 3 คน ร้องขอลูกอมจากผมตอนที่ผมขอถ่ายรูป "ทู้" เด็กชาย 1 ใน 3 คน ชู 2 นิ้ว พร้อมส่งสายตาวิงวอนมาให้ผมอีกครั้ง เมื่อเห็นว่าผมยังเหลือลูกอมอีกหลายเม็ด ก่อนที่จะมาที่นี่ผมอ่านรีวิวเกี่ยวกับเรื่องการเตรียมตัวมาเยอะมากครับ และ 1 ในข้อแนะนำที่มักจะเจอเสมอในหลาย ๆ รีวิวก็คือให้เตรียมลูกอมกับ Chocolate มาด้วยเยอะ ๆ เพื่อที่จะได้เอามาแจกน้อง ๆ ที่นี่ ด้วยเหตุนี้ ผมก็เลยซื้อลูกอมถุงใหญ่และ Chocolate อย่างดีเตรียมมาแจกน้อง ๆ เยอะมากครับ ตอนนั้นคิดง่าย ๆ แค่ว่าอยากให้น้องที่ปกติก็คงไม่ค่อยมีโอกาสได้กินขนมหรือลูกอมได้มีความสุขเล็ก ๆ บ้าง ผมรู้สึกอยากจะให้เพราะว่าตอนเด็ก ๆ ตัวผมไม่ค่อยมีโอกาสได้กินขนมหรือลูกอมเท่าไร และผมก็จะดีใจมาก ๆ ทุกครั้งเวลาที่มีคนเอาลูกอม Chocolate หรืออะไรก็ตามที่ผู้ใหญ่เรียกว่า "ขนมไม่มีประโยชน์" มาให้กิน
แต่ผมได้มารู้ทีหลังครับว่ารัฐบาลเนปาลเขารณรงค์ไม่ให้นักเดินทางให้ลูกอมกับน้อง ๆ เพราะเด็กที่นี่บางคนติดนิสัยชอบขอขนมหรือสิ่งของจากนักเดินทางครับ ทำให้หลายคนไม่ค่อยสบายใจ ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ตอนเด็ก ๆ ผมมักจะโดนแม่ห้ามไม่ให้กินนั่นแหละครับ คือเพราะน้ำตาลในลูกอมและ Chocolate จะทำให้น้อง ๆ ฟันผุครับ ซึ่งการรักษาฟันที่นี่เป็นอะไรที่ยากและแพงมาก ๆ ฉะนั้นผมจึงอยากขอเป็นอีก 1 เสียง ที่อยากรณรงค์เรื่องไม่ให้ลูกอมน้องครับ ถ้าอยากให้ให้เป็นดินสอหรือสิ่งของอย่างอื่นจะดีกว่า
Nepali Twin
ฟ้าฝนยังคงเสมอต้นเสมอปลายเหมือนเช่นทุกวัน พอตกบ่ายปุ๊บครึ้มมาเชียว
Chomrong
ในสุดผมก็มาถึงหมู่บ้าน Chomrong ตอนบ่าย 2 กว่า ๆ ถ้านับจากที่เมื่อเช้าเริ่มออกเดินมา ตอนราว ๆ 7 โมงนิด ๆ รวมแล้ววันนี้ผมใช้เวลาเดินทั้งสิ้น 7 ชั่วโมงครับ
Chomrong (ชอม-ลอง) จะเป็นหมู่บ้านที่ค่อนข้างใหญ่เพราะเป็นหมู่บ้านที่มีเส้นทาง 3 เส้นมาบรรจบกัน คือเส้นทางไป Poon Hill เส้นทางไป Nayapul (หมู่บ้านเริ่มเดิน Trek) และแน่นอนว่าอีกเส้นคือเส้นทางขึ้นสู่ Annapurna base camp ด้วยเหตุนี้หมู่บ้านนี้จึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกเยอะกว่าที่อื่นครับ ทั้งมีโรงแรมให้เลือกเยอะ มีสนามบาสเกตบอล ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหารฝรั่ง ร้านนวด หรือแม้แต่ร้านเบเกอรี่
2 คน นี้คือลูกชายของเจ้าของที่พักในคืนนี้ครับ เจ้าคนซ้ายนี้ชอบให้ถ่ายรูปแต่ไม่ยอมให้จับ (นี่เด็กหรือแมวฟะเนี่ย !!) ส่วนน้องจ้ำม่ำตรงกลางนี้จะชอบให้ทั้งจับ ทั้งทึ้ง และดูเหมือนสนใจสิ่งรอบข้างตลอดเวลา ส่วนไอ้ตัวดำ ๆ ทางขวานี้เป็นหมาของเจ้าของโรงแรมครับ ขี้อ้อนมากกกกก เล่นด้วยครั้งแรกก็หงายท้องให้เกาพุงแล้ว จริง ๆ จะว่าไปตั้งแต่มาที่เนปาล หมาที่นี่ขี้อ้อนและเล่นกับคนทุกตัวครับ ผมคิดว่าหมาที่นี่มันคงรู้สึกปลอดภัยเวลาอยู่กับคนเพราะไม่มีใครไปแกล้ง ไปทำร้ายมันก็เป็นได้
ร้านเค้กบนภูเขา
อดอยากปากแห้งมาหลายวันแบบนี้ เจอร้านเบเกอรี่ทั้งทีต้องจัดกันหน่อย ถ้าใครมีโอกาสได้มาที่ Chomrong แนะนำให้มาลองแวะชิมเบเกอรี่ที่นี่ดูครับ มันมีอยู่ร้านเดียวหาไม่ยาก ที่แนะนำไม่ใช่ว่ามันอร่อยมากหรืออะไร (จริง ๆ คือติดจืดตามแบบฉบับเนปาลีดังเช่นทุก ๆ มื้อที่ผ่านมา) แต่มันเด็ดตรงที่นี่บรรยากาศมันให้มากสำหรับการกินเค้กและจิบชาครับ อากาศเย็น ๆ ลมอ่อน ๆ เพลง Easy listening เบา ๆ (สลับเพลงแขกจังหวะโจ๊ะ ๆ บ้าง แล้วแต่เจ้าของร้าน) และตรงระเบียงร้านก็มีที่นั่งที่สามารถมองเห็นทิวเขา Annapurna ได้ชัดมาก ๆ ด้วย (อีกอย่างมี Wi-Fi ฟรีด้วยนะ)
ผมสั่ง Apple Crumble มากินคู่กับชาอะไรสักอย่างที่เรียกว่า "ชา Organic" ครับ ซึ่งตอนนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่ามันคือชาอะไร มันจะมีรสชาติและกลิ่นของสมุนไพรเฉพาะอยู่ ออกฝาดนิด ๆ แต่ก็เข้ากับ Apple Crumble ได้พอดีเลยครับ แนะนำ ๆ
งานเต้นรำใต้แสงดาว
ในช่วงหัวค่ำของวันนี้พวกเราได้มีโอกาสร่วมเต้นรำกับชาวบ้านครับ ราเมศบอกว่าทาง Agency เป็นคนติดต่อทางชาวบ้านให้มาแสดงการแสดงพื้นบ้านให้พวกเราได้ชมกัน คือต้องบอกก่อนว่าชาวบ้านในแถบนี้จะมีอาชีพเสริมช่วงกลางคืน คือแสดงการแสดงพื้นบ้านให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ชมครับ 2 ทุ่ม 15 นาที หลังจากที่พวกเรากินข้าวเสร็จ เสื่อก็ถูกปูลาดไปกับพื้น ชาวบ้านและพี่ลูกหาบเริ่มเข้ามานั่งล้อมวงกัน ส่วนพวกเรายังคงยืนงง ๆ เก้ ๆ กัง ๆ อยู่รอบ ๆ ว่าควรจะทำยังไง หรือนั่งตรงไหนดี สักพักเด็กชายตัวน้อยก็ตีกลองเป็นจังหวะให้สัญญาณบอกว่าการแสดงจะเริ่มแล้ว ต่อจากเสียงกลองก็ตามด้วยเสียงของเครื่องเป่าจากคุณลุงวัยน่าจะเกิน 60 ปี ตามด้วยเสียงปรบมือตามจังหวะและเสียงร้องประสานจากชาวบ้านคนอื่น ๆ
ในจังหวะที่หลาย ๆ คนยังคงเคอะเขิน และบทเพลงก็ยังคงบรรเลงต่อไป คุณลุงคนหนึ่งก็ลุกขึ้นมาระบำเปิด Floor ด้วยท่าเต้นที่ชวนให้ผมคิดว่าลุงน่าจะรู้จักวง EXO แน่ ๆ จากนั้นคนอื่น ๆ ก็เริ่มสลับกันออกมาเต้น จาก 1 คน เป็น 2 คน จากคุณลุง EXO ก็ตามด้วยผู้หญิง...เด็ก ๆ.....พี่ ๆ ลูกหาบของพวกเรา....ลุงกมและราเมศ และสุดท้ายพวกเราหลายคนก็ได้ออกมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วยการโชว์ Step การเต้นตามแบบฉบับทองหล่อและสีลมสไตล์
ราเมศบอกผมว่าเพลงที่พวกเขาร้องชื่อเพลง "Botalko Panile Akha Sankai Nanile Ijata Gayo Piune Banile" ครับ เป็นเพลงพื้นเมืองที่นิยมร้องและเต้นกันเฉพาะในแถบนี้ ความหมายของเพลงจะประมาณว่า "It is very nice, we are meeting today. Let's do enjoy. I am coming back in this nice village, meeting for you."
ดวงดาวกับความหวัง
04.20 น. ณ ระเบียงที่พักของ Chomrong Guest House ตามปฏิทินแล้วคืนนี้ต้องเป็นคืนแรม 5 ค่ำ และแน่นอนว่าแรม 5 ค่ำ พระจันทร์ยังสว่างอยู่มากครับ จริง ๆ ผมก็รู้แหละว่าแสงของเธอคงทำให้ค่ำคืนนี้ผมต้องผิดหวังจากการ "ล่าช้าง" อีกครั้ง แต่ก็แอบมีความหวังลึก ๆ ว่าเทือกเขาหิมาลัยจะพอช่วยบังแสงของเธอไม่ให้สว่างจนเกินไปได้บ้าง ซึ่งก็พอช่วยได้บ้างครับ แต่ก็ยังไม่มากพอจะทำได้ผมเจอเจ้าช้างชัด ๆ ว่าแต่ที่เห็นกระจุกเป็นเส้นตรงทิศ 2 นาฬิกา นั่นใช่หรือเปล่า ?
ยอดทางซ้ายคือยอด Annapurna South ส่วนยอดทางขวาคือยอด Hiunchuli
จบบันทึกการเดินทางวันที่ 5 สาระประจำวัน
- ไม่แนะนำให้แจกลูกอมหรือ Chocolate ให้กับน้อง ๆ นะครับ เพราะน้อง ๆ ที่นี่มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน ถ้าอยากให้ ๆ เป็นของอย่างอื่นดีกว่า
- ย้ำว่าทางวันนี้สวยมากจริง ๆ ถึงจะไกลแต่ก็ไม่ต้องรีบเดินนะครับถึงก่อนค่ำอยู่แล้ว ค่อย ๆ เสพไปทีละก้าวดีกว่า
- Chomrong เป็นเมืองใหญ่เมืองสุดท้ายที่เราจะเจอครับ ถ้าอยากส่งโปสการ์ดหรือซื้อของที่ระลึกจากบนนี้ แนะนำให้ซื้อที่เมืองนี้ได้เลย ราคาก็ค่อนข้างสมเหตุสมผล
Day 6 : Chhomrong >> Deurali
วันนี้จะเป็นวันที่เดินไกลที่สุดและไต่ระดับความสูงรวดเดียวมากที่สุดของการเดินทางครั้งนี้ โดยปกติแล้วคนที่ร่างกายไม่พร้อมมักจะเริ่มออกอาการแพ้ความสูงกันวันนี้ครับ ถ้าเป็นไม่มากก็ควรจะกิน Diamox กันไว้ หรือพักสัก 1 วัน เพื่อปรับสภาพร่างกาย แต่ถ้าใครเป็นมากก็คงต้องขอแสดงความเสียใจด้วย (555 ผมนี่เป็นตั้งแต่ 2 วันก่อนแล้ว เช้านี้เลยจัด Diamox ก่อนเลยเช้าเย็น)
"ได้แอบมอง...เธอข้างเดียว...อยู่ที่มุมนี้"
อ่า.....เริ่มออกเดินก็ทางลงรัว ๆ เลย ไม่อยากจะคิดตอนที่ต้องไต่ระดับกลับขึ้นมาเลยยยยยย @___@
"เราชาวนาอยู่กับควาย พอหมดงานไถ เราจูงฝูงควายเข้าบ้าน ฮึย....ฮึย....ฮึยฮึย"
แค่เพียงรอยยิ้มเล็ก ๆ ของเธอครั้งเดียวก็ทำให้ฉันไม่เหลียวไปมองที่ใด
Trekker Shopping Center
ระหว่างทางพวกเราแวะร้านค้าร้านหนึ่งครับ ชื่อว่าร้าน Trekker Shopping Center ร้านนี้น่าจะเป็นร้านค้าเพียงร้านเดียวของเมืองนี้ครับ และราคาของที่ขายก็ค่อนข้างถูกเลยเมื่อเทียบกับวันอื่น ๆ
Coke กระป๋องละ 170 เนปาลรูปี (56 บาท) ถ้าเทียบกับความลำบากในการออกไปซื้อผมว่าไม่แพงเลยนะ
คนนี้เป็นสาวเกาหลีที่พวกเราเจอที่ร้านค้าครับ นอกจากจะหน้าตาน่ารักแล้วเธอยังมีเสน่ห์มาก ๆ ด้วย เพราะเธอแบกเป้มากับเพื่อนสาว 2 คน !!! แถมเดินเร็วกว่าพวกเราหลาย ๆ คนอีกต่างหาก เล่นเอาพวกผู้ชายในกลุ่มเรามองกันตาเป็นมันเลย 55+ อนึ่ง..หลังจากที่พี่บอยช่วยแย็บถามคำถามที่พวกเราหลายคนอยากรู้แต่ไม่กล้าถามถึงได้รู้ว่า "แฟนเธอรออยู่ที่ Kathmandu" แป่วววววววว ;p
ผมชอบไก่ที่นี่นะ จ้ำม่ำน่ารักดี....ติดแต่ว่าเขาเลี้ยงไว้กินนี่สิ TT__TT
ถ้าเรามัวแต่มุ่งเดินไปให้ถึงจุดหมายก็จะไม่เห็นความงามของดอกไม้ริมทาง
เข้าใกล้เธอขึ้นอีกนิดแล้ว :]
ดินแดนศักดิ์สิทธิ์
ตอนนี้ผมอยู่ที่หมู่บ้าน Bamboo ครับ ป้ายข้างหน้านี่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ตั้งแต่หมู่บ้าน Sinuwa เป็นต้นไป จะเข้าสู่แดนศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อโบราณ จึงขอความกรุณาอย่านำเนื้อ ไก่ หมู และควาย เข้ามายังพื้นที่นี่ มิฉะนั้นจะเกิดอุบัติเหตุปริศนานะจ๊ะ" จริง ๆ ผมก็อยากจะตลกนะครับ แทนที่จะขู่ด้วยค่าปรับ หรือโทษทางกฎหมาย ดันมาขู่ด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่จะว่าไป เออ...ประเทศตูก็ไม่ต่างกันหรือเปล่าฟะ = ="
ชาวเนปาลีแท้ ๆ จะทานข้าวด้วยมือครับ ส่วน 3 คนนี้ก็ไม่ใช่ใคร พี่ ๆ ลูกหาบพวกผมเอง
ค่างขนเทา (Gray Langur)
หลังจากที่เดินออกจากหมู่บ้าน Bamboo จะมีช่วงหนึ่งที่ต้องเดินผ่านป่าไผ่ ซึ่งเป็นบ้านของเจ้าพวกนี้ครับ เขาจะอยู่กันเป็นฝูงตรง 2 ฝั่งริมทางเดินเลย แต่มักจะหลบขึ้นที่สูงทันที ถ้าอยากเจอเขาต้องเดินกันเงียบ ๆ นะครับ
ที่หมายของวันนี้คืออาคารหลังสีฟ้าที่เห็นอยู่ลิบ ๆ นู่นนะครับ เห็นอย่างนี้เดินชั่วโมงกว่าเลยนะครับกว่าจะถึง = ="
หลังจากที่เดินมา 6 วัน ในที่สุดผมก็ได้เห็น "หิมะ" เป็นครั้งแรกในชีวิตสักที T^T และที่เห็นขาวนี่ไม่ใช่หิมะธรรมดานะครับ แต่คือธารน้ำแข็ง (Glacier)
ผาน้ำตก
ในช่วงที่เป็นหุบเขา ตลอด 2 ข้างทางเราจะได้เห็นน้ำที่ตกลงมาจากหน้าผาทั้ง 2 ด้านแบบนี้เสมอ ๆ บางจุดนี้ตกจากยอดผาที่สูงขึ้นไปเป็น สิบ ๆ เมตร และยิ่งเดินเข้าไปลึกขึ้นเรื่อย ๆ บางจุดน้ำที่ตกลงมาจะแข็งกลายเป็นน้ำแข็งติดกับหน้าผาเลยสวยมาก ๆ ครับ เสียดายช่วงที่ผมมาเป็นช่วงปลายหน้าหนาวน้ำเลยน้อย ถ้ามาหน้าฝนผมว่ามันจะต้องอลังการมาก ๆ แน่
ใกล้ขึ้นมาอีกนิดละ จากนาฬิกาบอกว่าตอนนี้เกือบจะ 6 โมง แปลว่าวันนี้ผมใช้เวลาเดินไปทั้งสิ้น 10 ชั่วโมงครับ !! *0*
บทสนทนาบนโต๊ะ Kotatsu
โถงทานอาหารของโรงแรมข้างบนนี้จะมีโต๊ะที่คล้าย ๆ กับ Kotatsu ของญี่ปุ่น ผมไม่รู้ว่าภาษาไทยเรียกว่าอะไร มันจะเป็นโต๊ะยาว ๆ ที่คลุมด้วยผ้านวม แล้วข้างใต้จะเป็นหลุมลงไปสำหรับใส่เตาไฟ เพื่อให้ความอบอุ่นที่ขาครับ แต่ต้องเสียเงินนะ โชคดีตอนที่ผมมานั่งคุณลุงเจ้าของร้านแกมานั่งคุยกับเพื่อนที่ขึ้นมาเยี่ยมจากในเมืองพอดี พวกเราเลยได้นั่งอุ่นฟรี ๆ ด้วย 555 ระหว่างที่นั่งเนียน ๆ ข้างลุงเพื่อผิงเตาอุ่น ๆ ผมมีโอกาสได้ร่วมวงสนทนากับคุณลุงเจ้าของและผองเพื่อนครับ เหตุเพราะแกคิดว่าผมเป็นคนเนปาล (เอิ่ม..จริง ๆ ก็ไม่ใช่คนแรกที่เข้าใจผิดหรอกนะ = =") แกถามว่าพวกเรายังไหวกันอยู่หรือเปล่า และเล่าให้ฟังว่าเมื่อวานนี้มีนักท่องเที่ยวเกาหลีคนหนึ่งเกิดอาการแพ้ความสูงค่อนข้างมากตอนมาถึงที่นี่ แต่ก็ยังรั้นไปต่อ จนสุดท้ายไปไม่ไหว อาการกำเริบแล้วฟุบลงไปบนหิมะเลยต้องรีบหามกลับลงมา ลุงบอกว่าตอนเธอโดนหามมาถึงที่นี่เธอร้องไห้หนักมาก เพราะเธอบอกว่าเธอฝันอยากจะมาที่นี่ตั้งนานแล้ว "ใจ" เธอไหว แต่ "กาย" เธอไม่ไหวจริง ๆ
กลับมาสู่คำถามของพวกเราว่า "พวกเรายังไหวอยู่ไหม ?" ตอนนั้นผมและเพื่อนไม่ได้ตอบอะไรครับ แต่เดี๋ยวพรุ่งนี้ผมมีอะไรจะเล่าให้ฟัง
จบบันทึกการเดินทางวันที่ 6...สาระประจำวัน
- แนะนำให้ตุนเสบียงที่ร้าน Trekker Shopping Center เพราะถูกมาก ๆ และหลังจากนี้ไปของขายจะไม่ค่อยมี และราคาจะเบิลขึ้นไปอีกเยอะเลย
- เรื่องที่ว่าห้ามเอาเนื้อ ไก่ หมู ควาย เข้ามาที่นี่ ผมคิดว่ายังไงก็อย่ารั้นเลยนะครับ ถึงแม้ว่าหลังจากนี้จะต้องเจอแต่เมนูที่รสชาติเข้าขั้นวิกฤต หรือถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เชื่ออย่างที่พวกเขาเชื่อก็ตาม เพราะมันจะทำร้ายความรู้สึกกันเปล่า ๆ เหมือนกับที่เราดิ้น เอ้ย !! หมายถึงไม่ชอบให้ใครมา Cosplay เลียนแบบพระสงฆ์หรือมาโพสท่าแปลก ๆ คู่กับพระพุทธรูปนั่นแหละครับ (จะว่าไปประเด็นอ่อนไหวบ้านเราอาจจะมากกว่าเขาด้วยซ้ำไปมั้ง = =")
- เส้นทางวันนี้ค่อนข้างจะหลากหลายครับ ทั้งต้องไต่หิน เดินบันได เดินขึ้น เดินลง ถ้าเดินไม่ระวังอาจจะบาดเจ็บได้
- ถ้าใครที่จะเดินยิงยาวจาก Chomrong มา Deurali แบบผมละก็ พกไฟฉายไว้กับตัวก็ดีครับ เผื่อกรณีที่ถึงตอนค่ำ ๆ ฟ้าที่นี่มืดเร็วนะ ตอนผมมาถึงตอน 5 โมง ก็เริ่มจะมืดแล้ว
Day 7 : Deurali ->> MBC >> ABC
และแล้วในที่สุดวันที่พวกเราทุกคนต่างเฝ้ารอก็มาถึง วันที่เราจะได้เหยียบ Annapurna base camp ซะที หลังจากนี้ไปภูมิทัศน์จะค่อนข้างต่างกับวันก่อน ๆ ที่ผ่านมาพอสมควรครับ เราจะไม่เจอหมู่บ้าน ไร่นา หรือป่าอีกแล้ว สิ่งที่เราจะเจอหลังจากนี้คือลำธาร ช่องเขาขนาดยักษ์ Base camp หิมะ หิมะ และก็หิมะ ราเมศบอกว่าพวกเราน่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. ในการไปให้ถึง Annapurna base camp และแนะนำว่าควรจะออกเช้าหน่อยเพราะสภาพอากาศข้างบนนี้ค่อนข้างที่จะแปรปรวนทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเลยเที่ยงไปแล้ว
ต่างฝัน...หนึ่งที่หมาย
ทุก ๆ วันที่ผ่านมาพวกเราค่อนข้างจะออกตัวช้ากว่าแผนเสมอครับ แต่ไม่ใช่สำหรับวันนี้ เช้านี้ผมพบว่าเพื่อน ๆ ตื่นกันแต่เช้ามาก ทุกคนดูตื่นเต้น และตลอดมื้ออาหารเช้าเราก็คุยกันแต่เรื่องว่าจะทำอะไรบ้างเมื่อไปถึงแล้ว บางคนตั้งใจจะไปถ่ายรูปถือธงชาติคู่กับป้าย ABC จากนั้นก็ Check In ลง Facebook ตากล้องหลายคนแบกอุปกรณ์หนัก ๆ มาเพื่อถ่าย Time Lapse ในเช้าวันพรุ่งนี้ และบางคนก็บอกจะไปสร้าง Landmark ในส้วม (ทิ้งบอมบ์) เพื่อให้โลกรู้ว่าได้มาเยือนที่นี่แล้ว ส่วนผม...ผมตั้งใจมาหาที่สูง ๆ เงียบ ๆ และ มืด ๆ เพื่อที่จะดูดาวครับ ซึ่งที่นี่ก็มีครบทั้ง 3 อย่างเลย ต่างคนต่างก็มีเป้าหมายที่ต่างกัน แต่เราทุกคนล้วนมีจุดหมายปลายทางเดียวกัน Annapurna Base Camp
Hard Time Decision
ย้อนกลับไปเมื่อ 12 ชั่วโมงที่แล้ว พวกเราต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่แสนจะยากลำบาก เรื่องของเรื่องคือเพื่อนผู้หญิงในกลุ่มของเราคนหนึ่งเกิดเจ็บขาจนเดินต่อไม่ไหวครับ ยังดีที่มีเพื่อน ๆ ที่เดินอยู่ด้านหลังคอยประคองและสลับกันแบกเธอมาจนมาถึงที่หมู่บ้าน Deurali จนได้ในที่สุด (ซึ่งถ้าพูดให้ถูกจริง ๆ คือส่วนใหญ่แล้วคนแบกคือราเมศ ไกด์หนุ่มผู้กำยำของเราครับ จะมีสลับบ้างตอนที่ราเมศเมื่อยเป็นพัก ๆ) ผมทราบเรื่องหลังจากที่เธอและเพื่อน ๆ ที่คอยประคองมาถึงที่ Deurali ตอนเกือบ 2 ทุ่ม ซึ่งต้องนับถือเพื่อน ๆ และราเมศจริง ๆ เพราะเส้นทางวันนี้ยาวหลาย 10 กิโลเมตร มีทั้งขึ้นเขาและลงเนิน ข้ามน้ำตก ซ้ำช่วงบ่ายฝนก็ยังตกอีก และทีเด็ดมันอยู่ตอนใกล้จะถึง Deurali ที่เป็นทางเดินแคบ ๆ เลาะริมผาที่คดเคี้ยว ที่ขนาดผมเดินตอนกลางวันยังเกือบจะตกหลายรอบ แต่นี่พวกเขาต้องประคองฝ่าความมืดมาจนถึง
วันนี้เป็นวันที่หนักมากจริง ๆ ครับ ทุกคนเหนื่อย ทุกคนอยากพัก แต่พวกเรายังนอนกันไม่ได้เพราะด้วยสภาพร่างกายของเพื่อนเราคนนี้ รวมถึงเพื่อนคนอื่น ๆ บางคนที่เริ่มออกอาการ AMS กันแล้ว ทำให้พวกเรากลัวว่าเราอาจจะไปไม่ถึง ABC กันทุกคน และหลังจากที่คุยกันเราก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องเลือกว่าจะไปพักที่ ABC เฉพาะคนที่ไปไหว แล้วให้เพื่อนที่ไปต่อไม่ไหวให้รอที่ Deurali หรือ MBC หรือเราทุกคนจะเปลี่ยนแผนมาพักที่ MBC กันทุกคน แต่นั่นก็หมายความว่าเราจะมีเวลาอยู่ที่ ABC แค่แป๊บเดียวแล้วต้องรีบกลับลงมา และจะพลาดทั้งแสงทองยามเช้าและตอนเย็นที่ ABC ความอึดอัดเริ่มเกิดขึ้นกับพวกเราทุกคน เราทุกคนอยากไปให้ถึง ABC ช่างภาพหลายคนตั้งใจมาเก็บทั้งแสงเช้าและเย็นบน ABC...และพวกเราไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง สุดท้ายแล้วตอนนั้นพวกเราก็ไม่ได้เลือกครับ เราตัดสินใจแล้วว่าจะรอดูอาการเพื่อนของเราอีกคืนหนึ่งก่อน
ถ้าพรุ่งนี้เธอยังเดินไหวเราก็จะพาเพื่อนของเราไปให้ไกลที่สุดเท่าที่เธอจะไปไหว
ถ้าเธอเดินเองไม่ไหว...พวกเราจะประคอง
ถ้าเธอหมดแรง...เราจะสลับกันหาม
และถ้าสุดท้ายแล้วไม่ไหวจริง ๆ เราก็จะช่วยกันพาเธอกลับลงมา
ฟังดูดื้อรั้นใช่ไหมละครับ ? ทั้ง ๆ ที่พวกเราเองยังเอาตัวแทบไม่รอด และก็เพิ่งผ่านมาได้เพราะราเมศแท้ ๆ แต่เพราะความดื้อรั้นนี่แหละที่ทำให้พวกเราได้มาเจอกันที่นี่ และอีกอย่างเพื่อนย่อมไม่ทิ้งเพื่อนอยู่แล้ว...ใช่ไหมครับ :]
Bisan, The Super Porter
และด้วยความเอาแต่ใจของพวกเรา ราเมศจึงส่ง "ไบซัน" Nepali cute porter น้องชายแท้ ๆ ของเขาเองมาช่วยดูแลพวกเราครับ เพราะวันนี้ราเมศจะต้องคอยเดินปิดท้ายกลุ่ม เห็นอย่างนี้ไบซันอายุแค่ 20 ปี เองนะครับ ไบซันบอกว่าตอนนี้เขากำลังเก็บชั่วโมงบินเพื่อที่จะได้เป็นไกด์เหมือนราเมศกับลุงกม ซึ่งในระหว่างนี้ก็ต้องเป็นลูกหาบ (Porter) ไปก่อน ถ้าผมฟังมาไม่ผิด ถ้าจะเป็นไกด์ที่นี่ได้ต้องมีประสบการณ์ประมาณ 4 ปี และต้องผ่านการสอบด้วยนะ
Natural Buddha
เห็นอะไรในรูปนี้ไหมครับ ? ถามอย่างนี้อาจจะกว้างไป ถามใหม่ละกัน เห็นอะไรตรงกลางรูปไหมครับ ? ถ้ายังไงก็ยังไม่เห็น ก็ไม่ต้องแปลกใจหรือรู้สึกว่าโง่อะไรหรอกนะครับ เพราะตอนที่ผมเห็น Bisan มองดูที่ชะง่อนผาของเขาลูกนั้นผมก็งงเหมือนกัน
Bisan พยายามอธิบายเป็นภาษาอังกฤษให้ผมฟังว่า คนแถวนี้เรียกหินผาขาว ๆ ตรงนั้น ว่า "Natural Buddha" ครับ เข้าใจว่าน่าจะหมายถึง "พระพุทธรูปที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ" (Buddha image created by nature)
ท้องฟ้าสีฟ้าแบบ Clear blue sky แสง Day light ที่ยังไม่ถึงกับแข็งมาก ฉากหลังเป็นภูเขาหิมะ ช่างเป็นวันที่เหมาะกับการถ่ายรูปจริง ๆ ให้ตายเถอะ *0*
แว่นตาโพลาไรซ์
เตือนในฐานะคนพลาดมาก่อนครับว่าใครจะมาที่นี่ หรือมาเที่ยวที่ที่มีหิมะเยอะ ๆ แนะนำให้หาแว่นตากันแดดโดยเฉพาะแบบที่เป็นโพลาไรซ์มาใช้ครับ ไม่อย่างนั้นเดียวจะแย่แบบผม คือตอนแรกผมก็มั่นใจมากไงว่าไอ้เราก็เดิน Trek มาหลายที่แล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องใช้แว่นกันแดดเลย ก็เลยหลงคิดว่าที่นี่ก็คงไม่ต่างกันมั้ง แดดมันจะแรงสักแค่ไหนกันเชียว (มั่นหน้ามาก) แต่ขอโทษ...แดดที่หิมาลัยกับที่ประเทศไทยนี่มันคนละเรื่องกันเลยครับ เพราะมันเป็นแดดที่อยู่บนระดับความสูง 3,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล แถมหิมะสีขาวที่มีอยู่ทั่วไปหมดก็กลายมาเป็น Reflect ขนาดใหญ่ที่สะท้อนแสงเข้ามาแยงตาของเราจากทุกทิศทางด้วย คือมันแสบตามากครับ ผมต้องหยีตาจนแทบจะมองไม่เห็นทางเลย ดีที่ในกลุ่มเรามีพี่ผู้หญิงคนหนึ่งพกแว่นมา 2 อัน เลยสละให้ผมได้ใช้อันหนึ่ง และตั้งแต่ตอนนั้นเองที่ผมได้สาบานกับตัวเองว่าจะไม่บ่นพวกผู้หญิงเรื่องที่ชอบพกของมาเยอะแยะเกินความจำเป็นอีก
Suraj, The Nepali Bakerian
"ดอกไม้ไม่ว่ากลิ่นหอมเย้ายวนแค่ไหน ก็ไม่อาจทำให้ใจสั่นไหวไปได้ ก็เพราะฉันมีเธอที่หอมกว่า" ถ้าให้จัดระดับเรื่องประหลาดใจในทริปนี้เป็น 10 ระดับ การได้ยินเพลง "ดอกไม้" ของ Niece แห่ง Dojo city ศิลปินสุดฮอตแห่งยุคในสมัยผมยังเป็นละอ่อน ลอยตามสายลมมาเข้าหู ทั้ง ๆ ที่ผมกำลังเดินอยู่กลางเทือกเขาหิมาลัยอันโคตรจะห่างไกลจากประเทศบ้านเกิดอย่างนี้ ผมคงให้คะแนนอื่นใดไม่ได้นอกจาก 10/10
และถ้านี่ยังไม่ทำให้ประหลาดใจมากพอ ผมคงต้องบอกว่าเสียงเพลงที่ลอยมานี้ไม่ได้มาจากนักท่องเที่ยวชาวไทยนะครับ แต่เสียงมันมาจากวิทยุเครื่องเล่น Mp3 ของหนุ่มน้อยลูกหาบชาวเนปาลคนหนึ่ง เจ้าของเครื่องเล่น MP3 เครื่องนั้นชื่อ "สุรัช" ครับ สุรัชบอกผมว่าเขาชอบฟังเพลงไทย เพราะว่ามัน "it’s relax and Beautiful" (ผมเข้าใจว่าที่เนปาลคงไม่ค่อยมีเพลงแนว bossa nova หรือแนว easy listening เท่าไร) และเขาได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกจากมือถือของนักเดินทางชาวไทยลูกค้าของเขาเมื่อปีที่แล้ว แล้วเกิดชอบเลยขอมา สุรัชเล่าให้ผมฟังหลังจากที่ผมไปถึงที่ ABC แล้วว่า ตอนแรกที่เราเจอกันเขาเข้าใจผมผิด 2 อย่าง อย่างแรกคือเขาคิดว่าผมเป็นชาวเนปาลีเหมือนกัน และอย่างที่ 2 คือเขาคิดว่าเราอายุพอ ๆ กัน ซึ่งความจริงแล้วสุรัชอ่อนกว่าผม 14 ปีครับ :]
ช่องเขานั้น ที่ฉันเคยเห็นใน Pantip
ในที่สุดผมก็มาถึงช่องเขานี้เสียที !! พูดได้เต็มปากเลยครับว่าแรงบันดาลใจที่พาผมมาจนถึงที่นี่คือการได้เห็นช่องเขาสุดอลังการแห่งนี้ในรีวิว Pantip และของจริงมันแทบจะให้คนละความรู้สึกกับในรีวิวเลยครับ เพราะผมไม่ได้แค่เห็นเท่านั้น แต่ยังได้กลิ่นของหิมะ ได้ยินเสียงของธารน้ำ และได้สัมผัสความเย็นอ่อน ๆ ของลมด้วย จริง ๆ ก็อยากจะลองก้มลงไปเลียก้อนหินเหมือนกันนะ จะได้ครบทุกประสาทสัมผัส แต่ก็กลัวถ้าป่วยขึ้นมาจะไม่มีเงินจ่ายค่า ฮ. พาไปส่งโรงพยาบาลข้างล่าง ;p
และที่สำคัญครับ คือมันรู้สึกภูมิใจมาก ๆ ที่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ เพราะผมไม่ได้นั่งรถไฟฟ้าหรือขึ้นลิฟต์เพื่อที่จะมาถึงตรงนี้ได้ แต่ผม "เดิน" จนมาถึงตรงนี้ ใช้เวลาทั้งหมด 6 วัน รวมระยะทางก็น่าจะเกือบ 100 กิโลเมตร แล้ว
Even though I walk through the valley of the shadow of death, I will fear no evil, for you are with me; your rod and your staff, they comfort me. -Psalm 23:4
"I'm the king of the world"
I'm the king of the world .. จำได้ว่าตอนผมอยู่ ป.6 ตอนนั้นหนังเรื่อง Titanic กำลังดัง มันมีฉากหนึ่งครับที่ แจ็ค พระเอกของเรื่องวิ่งไปที่หัวเรือ Titanic แล้วตะโกนประโยคนี้ออกมา ตอนนั้นด้วยความที่ยังเป็นเด็ก ผมก็ขำว่า "เฮ้ย มันตะโกนอะไรของมันฟะ ประโยคโคตรเสล่อเลย"..แต่แล้ววันนี้ที่ผมได้มายืนบนก้อนหินใหญ่ก้อนนี้ ผมว่าผมพอเข้าใจว่าความรู้สึกของคนที่พูดประโยคนั้นเขารู้สึกยังไง แต่ผมจะไม่บอกหรอกนะครับ....ต้องลองมาสัมผัสเอง ;]
www.youtube.com/watch?v=ItjXTieWKyI
Lovely Couple
"พอแก่แล้ว _ม่ง เที่ยวอย่างนี้ไม่ไหวนะโว้ย" ผมมักจะอ้างวาทกรรม "แก่แล้วเดี๋ยวไม่มีแรงเที่ยว" เป็นประจำเวลาที่โดนเพื่อนมันแซวว่า "เมิงจะเข้าป่าอีกแล้วเหรอวะปาล์ม" แต่ถึงจะอย่างนั้นแนวคิดที่ว่า "แก่แล้วเที่ยวอย่างนี้ไม่ได้นะ" ของผมก็มักจะถูกหักล้างด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์แทบทุกครั้งที่ผมแบกเป้ เข้าป่า ปีนเขา และครั้งนี้ก็เช่นกัน คุณลุงกับคุณป้าผู้หน้าตายิ้มแย้ม 2 คนนี้ เป็นคู่รักนักเดินทางที่มากับ Agency เดียวกับผมครับ เห็นอย่างนี้ทั้งคู่เดินเร็วมากครับ เรียกได้ว่าตลอด 6 วันที่ผ่านมาผมจะผลัดกันเดินแซงกับคู่คุณลุงคุณป้าอยู่ตลอด เมื่อใดที่ผมนั่งพักเหนื่อยสักพักก็จะเห็นทั้งคู่เดินตามมาแต่ไกล และพอผมหายเหนื่อยแล้วเดินต่อ สักพักก็จะเห็นภาพคุณลุงยืนรอคุณป้านั่งพักเหนื่อยอยู่ข้างหน้า มีครั้งหนึ่งที่ผมเดินตามทั้งคู่ทันด้วยสภาพที่อิดโรยมาก แต่ทั้งคุณลุงและคุณป้ายังคงดูสบาย ๆ และส่งยิ้มให้ผมเหมือนเช่นทุกที
ผมถามคุณลุงว่า "ไม่เหนื่อยกันบ้างเหรอครับ หรือปกติก็ชอบออกกำลังกายกันอยู่แล้ว ?" คุณลุงตอบว่า "เหนื่อยสิ แต่ผมก็เดินเรื่อย ๆ นี่แหละ ปกติก็ไม่ได้ออกกำลังกายอะไรหรอก ก็เดินดูป้ามาเรื่อย ๆ" สิ้นเสียงคำตอบของคุณลุง จู่ ๆ ท่อนหนึ่งของหนึ่งในเพลงโปรดผมก็ดังขึ้นมาในหัว ผมแอบเห็นคุณป้ายิ้มเล็ก ๆ อยู่แป๊บหนึ่งก่อนจะเนียนทำหน้าเหนื่อยเหมือนเดิม นิยามของคำว่า "แรงใจ" ก็คงประมาณนี้สินะ :]
เพื่อนร่วมเดิน
เหล่าบรรดาสหายร่วมเดินทางในวันนี้ วันนี้ผมเดินช้ามากครับ เพราะไม่มีเหตุผลที่จะต้องรีบเดินแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ถึง ABC แต่จุดหมายจริง ๆ ของผมที่ดึงดูดให้ผมมาที่นี่ก็คือทางช่วงนี้แหละ และเหมือนว่าจะมีหลายคนที่คิดเหมือนกัน เราค่อย ๆ เดินเสพบรรยากาศไปเรื่อย ๆ เดินไป คุยไป ถ่ายรูปไป เรียกได้ว่าหยุด selfie กันทุก 10 ก้าว เลยก็ว่าได้
ขอพื้นที่เล็กๆ ให้ยังเป็นเด็กอยู่ได้ไหม
ผม : เฮ้ยพี่ หิมะตรงนั้นยังกับสไลเดอร์เลยอะ
พี่โอม : ไปไหม ๆ
พี่บอย+พี่บึ้ง+นัท : ปะ ๆๆๆๆๆ
หมายเหตุ : บุคคลในภาพอายุต่ำสุดอยู่ที่ 29 ปี
"We don't stop playing because we grow old; we grow old because we stop playing."- George Bernard Shaw
ฝันมาตั้งแต่เด็ก ไม่คิดว่าจะได้มาเล่นอย่างนี้ตอนอายุขนาดนี้ = ="
เริ่มออกเดินทางกันต่อ หลังจากที่รู้สึกตัวว่าจะเวิ่นเว้อนานเกินไปแล้ว
ที่เห็นอยู่บนเนินลิบ ๆ นั้นคือ Machapuchare Base Camp หรือ MBC ครับ
ขั้นบันไดคดเคี้ยวท่ามกลางหมอกสีขาว นี่มัน "Stairway to Heaven" ชัด ๆ
Crampons
หลังจากนี้จะต้องเดินลุยหิมะหนา ๆ กันยาว ๆ ไปจนถึง ABC เลยต้องแวะใส่ Crampons กันที่ MBC ก่อน
Crampons (อ่านว่า แคลมป้อนซ) เป็นอุปกรณ์สวมรองเท้าคล้าย ๆ กรงเล็บไว้ช่วยยึดเกาะหิมะครับ สามารถหาซื้อได้ทั้งที่ย่านทาเมลและที่ Pokhara เป็นอีกหนึ่งอย่างที่แนะนำให้ซื้อไว้ถ้ามาช่วงที่มีหิมะครับ ตอนแรก ๆ อาจจะรู้สึกขัดเวลาเดิน แต่พอชินแล้วแทบจะวิ่งบนหิมะได้เลย (โม้ละ)
แม้ว่าตอนนี้จะบ่ายกว่าแล้วแต่อากาศเย็นมากครับ และสภาพอากาศก็แปรปรวนมาก ๆ
หลังคาสีฟ้า ๆ ไกล ๆ นั่นคือ MBC ครับ ส่วนที่เลยไปอีกหน่อยก็คือตีนเขาของเจ้าหางปลานั่นเอง เห็นแล้วก็นึกถึงวันแรกตอนที่อยู่ที่ Pokhara แล้วเหม่อมองดูเธอข้างเดียว...อยู่ที่มุมนี้...ก็พอแล้ว....เฮ้ยไม่ใช่ !! เอาใหม่ ๆ ตอนที่มองเห็นเธอไกล ๆ จากหลังคาของ Guest House ที่ Pokhara ถ้าลอง Scroll เม้าส์กลับขึ้นไปดู จะเห็นว่าผมเดินทางมาไกลไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว :]
ป้ายบอกทางไป ABC….แล้วทางอยู่ไหนล่ะ ? ก็ไอ้ขาว ๆ นั้นแหละครับทาง คือตอนหน้าร้อนมันก็คงจะเห็นทางอยู่นะผมว่า จำได้ว่าเคยอ่านรีวิวของพี่ผู้หญิง 3 คน ที่ไปด้วยงบ 3,000 บาท ใน Pantip ทางช่วงนี้จะเป็นทางเรียบธารน้ำกับทุ่งดอกไม้สวยมาก ผมตั้งใจว่าคราวหน้าจะลองหาโอกาสมาเที่ยวช่วงหน้าร้อนหรือหน้าฝนอยู่เหมือนกัน
Frostbite
ยิ่งเดินสภาพอากาศยิ่งแย่ลง ลมภูเขาที่ไหลลงมาจากทั้งทางด้านหน้าและด้านข้างสลับกันพัดพาความเย็นใส่พวกเราตลอดเวลา ทัศนวิสัยเริ่มแย่ นิ้วเท้าของผมเริ่มเย็นจนเจ็บ เพราะเมื่อกี้เพิ่งก้าวพลาดเท้าจมลงไปในหิมะแล้วมันซึมเข้าไปในรองเท้า ผมคิดจริง ๆ นะถ้าขืนเป็นอย่างนี้ต่อไปสักพักนิ้วผมต้องตายเพราะหิมะกัด (Frostbite) แน่ ๆ ตอนนี้อะไร ๆ ก็ดูจะแย่ไปหมด แต่ผมกลับรู้สึก “มันส์” นี่แหละสิ่งที่ผมคาดหวังก่อนจะเดินทางมาที่นี่...ผจญภัย "ตูเก็บตังค์มาเพื่อสิ่งนี้แหละ !!!"
Machapuchare เจ้าหางปลา...ยอดที่ไร้ผู้พิชิต
ด้านหลังนั้นคือฐานของ "เจ้าหางปลา" หรือ Fish Tail ครับ ผมเคยถามราเมศว่าทำไม Machhapuchchhre ถึงมี Base Camp ล่ะ ? ทั้ง ๆ ที่ห้ามไม่ให้ปีนไม่ใช่เหรอ ? หรือว่าเคยอนุญาตให้ปีนขึ้นได้มาก่อน ? ราเมศจึงเล่าให้ผมฟังว่าแต่ก่อนเคยมีการอนุญาตเป็นการพิเศษให้คณะสำรวจทีมหนึ่งปีนขึ้นไปได้ครับ แต่ก็ไปได้ไกลที่สุดได้แค่ 50 เมตร ก่อนจะปีนขึ้นยอด ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกสงวนไว้ให้เป็นที่สถิตขององค์เทวีอันนะปุรณะ และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ปีนอีกเลย และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือส่วนก่อนถึงยอด Summit ของเจ้าหางปลามันชันมาก ๆ ครับ บวกกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและหิมะถล่มอยู่บ่อยครั้ง เขาถึงไม่อนุญาตให้ปีน ที่เล่ามาทั้งหมดนี่ไม่ได้ตอบคำถามผมตอนแรกที่ถามว่า "ทำไมถึงมี Base camp หรอกนะครับ"
คำตอบจริง ๆ ก็คือ "มีไว้สำหรับคนที่ขึ้นไปถึง ABC ไม่ทัน กับไว้ให้นักเดินทางบางคนพักเพื่อไม่ให้ไต่ระดับเร็วเกินไปจนเกิดอาการแพ้ความสูงครับ เพราะตอนนี้เราอยู่ที่ระดับความสูง 3,100 เมตร พอ ๆ กับที่ Poon Hill เลย"
"Winter is Coming" - the motto of House Stark
เอาจริง ๆ ไม่ใช่ว่าเราจะเดินดุ่ม จะเหยียบหิมะตรงไหนก็เหยียบได้นะครับ เพราะว่าแต่ละจุดความแข็งและการเกาะตัวของหิมะไม่เท่ากัน ถ้าเผลอไปเหยียบตรงที่หิมะไม่แข็งตัวนี่มีโอกาสจมหายไปทั้งแข้งได้เลย (พลาดมาแล้ว) แนะนำให้เดินตามรอยทางคนข้างหน้าครับ ตรงบริเวณที่มีคนเดินผ่านเยอะ ๆ แรงเหยียบจะทำให้พื้นน้ำแข็งตรงนั้นแข็งตัวเดินง่าย แต่ใครอยากจะเล่นเกมวัดดวงก็ไม่ว่ากันนะครับ ให้อารมณ์ยังกับเล่นเกม minesweeper
The secret life of P@lmography
"โคตรสวย"
"นี่โลกมนุษย์จริง ๆ เหรอเนี่ย"
สารภาพว่าวันนี้เป็นวันที่ผมเผลอสบถคำหยาบออกมามากที่สุดในรอบหลายปี จริง ๆ ผมก็พยายามที่จะอุทานว่า "คุณพระ" แบบคุณชาวีอยู่หรอกนะครับ แต่มันไม่ใช่ทางของผมจริง ๆ
Snow White
ยิ่งเข้าใกล้ ABC อากาศโดยรอบก็ยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ ผมเริ่มมองเห็นทางข้างหน้าได้ไม่ไกลนัก ทุกอย่างรอบกายดูเป็นสีเทาตุ่น ๆ ไปซะหมด ลมช่องเขาเริ่มแรงขึ้น หลายครั้งที่ผมโดนพัดจนเซ แต่ความแรงของลมนั้นก็เทียบไม่ได้เลยกับความเย็นที่มันพามาด้วย และทันใดนั้นเองผมรู้สึกเหมือนอะไรเย็น ๆ มากระทบลงที่หน้าเป็นจุด ๆ เหมือนละอองฝน ฝนตกอย่างนั้นเหรอ ? ตอนนี้เนี่ยนะ ผมเงยหน้าขึ้นมองฟ้าทันทีตามสัญชาตญาณ ไม่ใช่...มันตกช้ากว่าฝน มันฟุ้งไปหลายทิศราวกับกำลังเล่นลม...และมันเป็นสีขาว
"เฮ้ย...พี่ใช่เปล่า" ผมสะกิดถามพี่บอยที่เดินนำอยู่ข้างหน้า
"Ku ว่าใช่นะปาล์ม"
"เฮ้ย ๆๆๆๆ"
หิมะครับพี่น้อง !! ใครจะหาว่าผมบ้านนอกไม่เคยเห็นหิมะก็ได้ คือมันตื่นเต้นจริง ๆ นะ และมันสวยมากในสายตาของผม ผมโดนแอนิเมะญี่ปุ่นหลอกตลอดว่าหิมะเวลาตกมันจะเป็นลูกกลม ๆ ขาว ๆ เท่าสำลีปิดแผล แล้วค่อย ๆ ตกแบบ Slow Life เหมือนแมงกะพรุนเล่นน้ำ แต่สิ่งที่ผมเห็นและกำลังสัมผัสตอนนี้มันเหมือนกับเศษโฟมเม็ดเล็ก ๆ จำนวนมหาศาลที่ปลิวฟุ้งอยู่ในอากาศอย่างไร้ทิศทาง และค่อย ๆ ย้อมทุกสิ่งที่มันสัมผัสให้เป็นสีขาวบริสุทธิ์
Jumping up and down the floor my head is an animal ท่อนแรกของเพลง Dirty paws เพลงประกอบหนังเรื่อง Secret life of Walter Mitty เริ่มกระหึ่มเข้ามาในหูผม ผมนึกถึงฉากหนึ่งในหนังตอนที่ Walter Mitty กำลังเดินฝ่าพายุเพื่อทำภารกิจตามหา O'Connell ช่างภาพในตำนานที่มาถ่ายรูป Snow Leopard และสถานที่ในฉากนั้นก็ไม่ใช่ที่ไหนไกลครับ ก็ที่ "เทือกเขาหิมาลัย" นี่แหละ
ความหวัง
นานเข้าความตื่นเต้นดีใจที่ได้เดินฝ่าพายุหิมะเป็นครั้งแรกก็แปรเปลี่ยนเป็นความทรมาน คือไอ้สวยมันก็สวยอยู่หรอกครับ แต่เจ้าโฟมเม็ดสีขาวที่พรมอยู่ทั่วร่างผมตอนนี้นี่มัน "โคตรจะเย็น" เลย ความตื่นเต้นดีใจ กลายเป็นความทรมาน ความทรมานก็เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความสิ้นหวัง และความสิ้นหวังก็แปรเปลี่ยนเป็นความกลัว
"เดินอย่างสิ้นหวัง" ผมคงต้องใช้คำนี้จริง ๆ ผมเริ่มกังวลเกี่ยวกับนิ้วเท้าของผมที่มันเย็นจัดมานานมากแล้ว ในหัวก็นึกย้อนไปย้อนมาถึงเรื่องเล่าของรุ่นพี่นักเดินป่าคนหนึ่งที่เล่าว่า "จังหวะที่เราสูญเสียเท้าเพราะโดนน้ำแข็งกัด (Frostbite) เรามักจะไม่รู้ตัว เพราะมันจะเย็นจนชา มารู้อีกทีก็ตอนที่เนื้อตายและต้องตัดทิ้งแล้ว"
หลาย ๆ ครั้งผมต้องขอให้เพื่อน ๆ หยุดรอก่อนเพื่อผมจะได้นวดเท้าตัวเอง ผมนึกไม่ออกเลยว่าถ้าวันนี้ผมไม่เลือกที่จะเวิ่นเว้อกับเพื่อน ๆ แต่สันโดษเดินคนเดียวเพื่อสัมผัสความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอย่างเช่นวันก่อน ๆ ผมจะเป็นยังไง ผมอาจจะได้เสพความยิ่งใหญ่ของเทือกเขาหิมาลัยมากกว่านี้ หรืออาจจะจิตตกยิ่งกว่านี้ตอนที่ต้องเดินฝ่าพายุหิมะคนเดียวโดยไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ผมเลิกคิดเอาเสียดื้อ ๆ เพราะยังไงผมก็ได้เลือกไปแล้ว และผมก็รู้สึกดีที่ตอนนี้มีเพื่อนอยู่ข้าง ๆ
"จะถึงแล้ว ๆ" เสียงพี่โอมที่ตะโกนมาจากข้างหน้าทำให้ผมต้องเงยหน้าขึ้นไปดูอาคารไม้ทาสีฟ้าบนเนินดินข้างในระยะ 100 เมตร ผมรู้สึกเหมือนหัวใจมันอุ่นวาบขึ้นมา
We are the Champions
ลมภูเขาพัดหิมะมาแรงมากขึ้นกว่าเดิม แต่ ณ เวลานี้ใครจะไปสนล่ะ ผมเห็นหลายคนตะโกนด้วยความดีใจ หลายคนกระโดดกอดกัน และหลายคนที่เมื่อสักครู่ยังเดินเหมือนคนไม่มีแรงอยู่เลย กลับวิ่งปร๋อเข้าไปถ่ายรูปคู่กับป้ายก่อนคนอื่น Shutter กล้องแต่ละตัวถูกลั่นรัว ๆ แบบไม่สนมุมกล้อง ไม่สน Battery หรือ memory พวกเราดีใจที่สิ่งที่เฝ้ารอมาเป็นเดือน ๆ สิ่งที่หล่อเลี้ยงกำลังใจตลอด 7 วัน ตอนนี้มันได้มาอยู่ตรงหน้าแล้ว
ผมยืนมองเพื่อน ๆ ที่กำลังมีความสุขอยู่เงียบ ๆ ตรงโขดหินเตี้ย ๆ ข้างหน้าป้าย ไม่ใช่ว่าผมไม่ดีใจนะ แต่ผมยังตั้งตัวไม่ทันว่าตัวเองได้ทำสำเร็จแล้ว ผมได้มายืนอยู่ตรงนี้แล้ว !!!! ผมแสดงความยินดีให้กับตัวเองด้วยการร้องเพลงเบา ๆ อยู่ที่ริมฝีปาก มันเบาจนมีแต่เพียงผมเท่านั้นที่จะได้ยิน และมันคือเพลงที่ถ่ายทอดความรู้สึกทั้งหมดของผมที่มีในตอนนี้
www.youtube.com/watch?v=04854XqcfCY
อาคารที่พักของ Annapurna Base Camp จะเป็นเรือนยาวชั้นเดียวที่ประกอบด้วยห้องนอนหลากหลายขนาด และมีโถงห้องอาหารขนาดใหญ่ 2 ห้องครับ ไฟฟ้าข้างบนนี้จะจ่ายเป็นเวลา (ได้ยินว่า) มี Wi-Fi ให้ใช้ด้วย แต่ตอนผมมาเหมือนจะเสียพอดี (กรรม อด Check In = =")
คืนที่ดาวเต็มฟ้า
4 ทุ่มครึ่งหลังจากที่คนอื่น ๆ เข้านอนกันไปเกือบหมดแล้ว และแสงไฟอาคารก็เริ่มดับลง ท้องฟ้าและหมู่ดาวก็เริ่มดูชัดขึ้น วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันที่ผมออกมารอเจ้าชายน้อยและมองหาดาว B612 แต่อย่าว่าแต่ดาว B612 อยู่ตรงไหนเลยผม แม้แต่ตอนนี้กลุ่มดาวไหนอยู่ตรงไหนผมก็ยังดูไม่ออก ไม่ใช่เพราะว่าท้องฟ้ามันสว่างเกินไป....ตรงกันข้ามมันมืดเกินไปต่างหาก มันมืดมากจนทำให้บรรดาดวงดาวต่าง ๆ สามารถแข่งกันส่องประกายระยิบระยับได้อย่างไม่ยอมน้อยหน้ากันเลย ผมพยายามไล่มองหาตำแหน่งของช้างเผือกจนทั่วฟ้า จริง ๆ ก็พอจะรู้แหละว่าเวลานี้ วันนี้ เขาจะพาดผ่านฟ้าตำแหน่งไหน แต่ผมก็มองไม่เห็นจริง ๆ แต่บอกตรง ๆ เลยนะ ตอนนี้ผมไม่ได้รู้สึกผิดหวังเลยแม้แต่นิดเดียว ;]
จบบันทึกการเดินทางวันที่ 7 สาระประจำวัน
- วันนี้ต้องระวังเป็นพิเศษเรื่องอาการแพ้ความสูงครับ เพราะเราต้องเดินจากระดับ 3,100-4,100 เมตร พยายามอย่าวิ่งมาก หรือก่อนขึ้นกิน Diamox กันไว้ก่อนก็ดีครับ
- แว่นกันแดดควรจะมีครับ ยิ่งถ้าเดินสาย ๆ จะแสบตาเอามาก ๆ
- Crampons หรือกรงเล็บ ถ้ามีจะช่วยให้เดินสะดวกขึ้นเยอะเลย
- พยายามเดินบนทางที่มีคนทำไว้ให้แล้ว เพราะว่าหิมะแข็งตัวไม่เท่ากัน บางจุดถ้าเหยียบอาจจะยุบหายเข้าไปทั้งขาได้
- รองเท้าเดิน Trekker ให้ดีควรจะเป็นแบบกันน้ำได้นะครับ เพราะถ้าหิมะที่เกาะรองเท้ามันละลายเข้าไปข้างในมันจะเย็นทรมานมาก และถ้ามากเกินไปอาจโดนหิมะกัดได้
- พยายามไปให้ถึงก่อนเที่ยงครับ ช่วงบ่ายอากาศจะแย่หนัก ทั้งทัศนวิสัย ทั้งสภาพอากาศ
Day 8 : Annapurna Base Camp
ตื่นสาย
เหมือนร่างกายจะรู้ว่าเมื่อคืนผมทำเป้าหมายสำเร็จแล้ว เช้านี้เลยปลุกผมช้ากว่าทุก ๆ วัน ผมนอนกลิ้งไปมาอยู่ในถุงนอนขนเป็ด แล้วก็นึกถึงเรื่องราวต่าง ๆที่ผ่านมา รวมถึงสิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ วันนี้ต้องลงแล้วสินะ...ว่าแต่เดี๋ยวนะ คนอื่นตื่นกันหมดแล้วเหรอเนี่ย ทำไมไม่มีใครอยู่ในห้องเลย เฮ้ย !!! ลืม คือเมื่อวานผมคงเหนื่อยสะสมมาก ๆ สมองเลยเบลอ ๆ จนลืมไปว่ายังเหลือสิ่งที่เป็น Climax อีกอย่างหนึ่ง ... แสงทองยามเช้าที่ ABC ไงล่ะ !!
ผมรีบพุ่งออกจากถุงนอน ใส่รองเท้า แล้ววิ่งออกจากห้องทันที...ผมยืนงง ๆ มองซ้าย มองขวา เพราะไม่รู้ว่าทางไหนคือทิศตะวันออก เมื่อวานก็ลืมถามราเมศซะด้วย แต่ความสงสัยผมก็อยู่แค่ไม่นานครับ เพราะนักเดินทางทุกคนต่างเดินไปในทิศทางเดียว ที่หุบธารน้ำแข็งยังไงล่ะ
พระอาทิตย์กับความรัก
ยังดีที่ผมมาทัน เธอกำลังจะมา และถึงแม้ว่าเราจะตั้งตาเฝ้ารอเธอ แต่เธอก็มักจะโผล่มาตอนที่เราเผลอ และเธอก็มักหายไปก่อนที่เราจะคว้า (ภาพ) เธอทัน #ความรักก็เช่นกัน
โอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ
ผมเดินตามคนอื่นขึ้นมาถึงสันเนินริมหุบของธารน้ำแข็ง บริเวณที่มีสถูปและธงมนต์ประดับอยู่ คนเยอะมาก ๆ ครับ มากจนผมไม่สามารถถ่ายรูปเดี่ยวหรือรูปที่ไม่ติดคนได้เลยถ้าไม่ Zoom ขึ้นไปบนยอด แต่จะโทษใครได้ล่ะ...ก็ผมตื่นสายเอง โอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ
ข้างล่าง คือหุบที่เกิดจากธารน้ำแข็ง (Glacier) กัดเซาะ ส่วนข้างบนคือยอดอันนาปุรณะ
ไม่รู้ว่าในชีวิตนี้จะได้มีโอกาสมาที่นี่อีกไหม ตอนนี้ขอเก็บภาพความทรงจำนี้ไว้ให้นานที่สุดหน่อยละกัน
สัมผัส
พอรู้ว่ากำลังจะต้องกลับแล้วก็แอบใจหายเบา ๆ ผมเพิ่งรู้ตัวครับว่าถ่ายรูปบนนี้น้อยมาก มันไม่สวยเหรอ ?....สวยสิ !!! Memory Card เต็มเหรอ ?....เหลืออีกตั้ง 16 Gb Battery ล่ะ ?....Charge เต็มอยู่ทั้ง 2 ก้อน แล้วทำไมเมิงไม่ถ่ายล่ะ ?
ถ้าใครยังจำได้มีฉากหนึ่งในหนังเรื่อง The Secret Life of Walter Mitty ตอนที่ Mitty ถาม Sean O'Connell ขณะรอจังหวะถ่ายภาพ Snow leopard บนเทือกเขาหิมาลัยว่า "ทำไมเมิ.. เอ้ย..คุณไม่กด shutter สักที"
Walter Mitty : When are you going to take it ?
Sean O'Connell : Sometimes I don't. If I like a moment, for me, personally, I don't like to have the distraction of the camera. I just want to stay in it.
Walter Mitty : Stay in it ?
Sean O'Connell : Yeah. Right there. Right here.
ถ้ามัวแต่ถ่ายผมก็จะ Focus อยู่แค่ในรู 4 เหลี่ยมเล็ก ๆ ของ View Finder เท่านั้น แต่ถ้าไม่ถ่าย ... ตา หู จมูก ลิ้น (หมายถึงอาหารบนนี้นะ ผมไม่ได้เอาลิ้นไปเลียหิมะ) และสัมผัส ผมสามารถเสพความเป็นหิมาลัยได้ด้วยทุกประสาทสัมผัสที่ผมมี
ตอนอายุ 60 จะมีเรื่องอะไรบ้างที่เรายังคงจำได้และสามารถเล่าให้ใคร ๆ ฟังได้อย่างภาคภูมิใจ เคยทำงานที่ไหน ? เคยใช้มือถือ รถ รุ่นอะไร ? เคยแสดงทรรศนะหรือแชร์อะไรใน Social Media ? เหล่านี้ผมอาจจะจำไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมจะจำได้แน่ ๆ ก็คือ วันที่ 11 เมษายน 2558 ผมได้มาเหยียบ Annapurna base camp และผมรู้สึกมีความสุข :]
บันทึกหน้าสุดท้าย
เมื่อพระอาทิตย์เริ่มสูงขึ้น พวกเราก็เริ่มออกเดินทางกันอีกครั้ง พวกเรากำลังจะเดินทางกลับ กลับไปเพื่อเก็บเงินและรอเวลา เพื่อพวกเราจะได้กลับออกมาท่องโลกใบใหญ่นี้อีกครั้ง ผมขอจบบันทึกการเดินทาง "ภาคหลัก" เอาไว้เพียงเท่านี้ครับ
จริง ๆ การเดินทางครั้งนี้ของผมยังไม่จบนะครับ ยังมีเรื่องเล่าในอีก 3 วันที่เหลือตอนขากลับที่ผมยังอยากจะเล่า ยังมีภาพในตัวเมืองกาฐมาณฑุก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผมอยากจะเอาให้ดู เอาไว้ถ้าผมหาเวลาว่างได้เมื่อไหร่จะมาเล่าให้ฟังอีกครับ
ปาล์ม
+++++++++++++++++++++++++++
ว่าด้วยการเตรียมตัวมา Trekking ABC
ออกตัวก่อนว่าผมไม่ค่อยถนัดเรื่องให้ข้อมูลเท่าไร และอีกอย่างข้อมูลการเดินทางมาที่ ABC นี้ก็มีคนรีวิวไว้เยอะมาก ๆ อยู่แล้วครับ ฉะนั้นผมขออนุญาตรวบรวมลิงก์กระทู้ที่พวกรุ่นพี่เคยเอาเขียนไว้ และเป็นประโยชน์ต่อผมให้ละกันนะ
ข้อมูลการเที่ยวเนปาลและการขอวีซ่ามาเนปาลครับ
พี่คนนี้ให้ข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายและที่พักเป๊ะมากครับ
กระทู้การเตรียมสำหรับนักเดินทางสาว ๆ ครับ (สารภาพว่าผมเตรียมไปน้อยกว่าที่เขาบอกเยอะมาก XP )
อันนี้กระทู้แนะนำเรื่อง การเดิน Trek ของพี่ SEPULTURA_FROM_HELL ครับ กระทู้ดีมาก ช่วยชีวิตผมได้เยอะเลย
อันนี้สำหรับคนที่คิดจะไปถึงแค่ Poon Hill ครับ
อันนี้คือกระทู้ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับ ABC และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมาที่นี่ครับ
รีวิวของพี่สาว 3 คนที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยอ่านกันแล้ว ผมอ่านแล้วทำเอาอยากจะมาเห็น ABC ช่วงที่ไม่มีหิมะมาก ๆ
อันนี้ของเพื่อนร่วมทริปของผมครับ เผื่อใครอยากอ่านแบบคู่ขนาน ในมุมมองของคนอื่น แต่ละคนก็ได้อะไรกลับไปที่ไม่เหมือนกันครับ 555
8 วันเดินเท้า ไปเข้าตู้เย็น ในนาม ABC
Poonhill กับ Annapurna base camp ใครๆก็ไปได้
ข้างต้นนี้คือกระทู้รีวิวสำหรับคนที่อยากจะแบกเป้มาเองนะครับ ถ้าทำได้ผมก็แนะนำให้มาเอง เพราะประหยัดเงินและยืดหยุ่นมาก แต่ก็ต้องหาข้อมูลและเตรียมตัวเยอะเหมือนกัน แต่ถ้าใครยังมือใหม่ อยากจะมาแต่หาเพื่อนมาไม่ได้ หรือไม่มีเวลาเตรียมตัว การมากับ Agency ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ดีครับ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่มากหน่อย แต่สะดวกสบายจริง ๆ Agency ก็จะมีทั้งของไทยและของเนปาลครับ ถ้าของเนปาลมาถึงแล้วค่อยหาก็ได้ พวกตามโรงแรมต่าง ๆ ที่เราไปพักเขาก็ติดต่อให้เราได้ครับ ส่วน Agency ไทยเท่าที่ผมทราบมี 2 เจ้าครับ คือ Trekkerhut ของป๋าคมรัฐที่ผมมาด้วยในครั้งนี้ กับของ UR-Backpacker
และก็ไม่ว่าจะมาเองหรือมากับ Agency ยังไงก็ต้องจ้างลูกหาบครับ ถ้าจำไม่ผิดเหมือนจะเป็นกฎนะ จะจ้าง porter หรือลูกหาบอย่างเดียวก็ได้ หรือจ้างไกด์ก็ได้ ถ้ามากับ Agency เขาจะจัดหาไว้ให้อยู่แล้ว แต่ถ้ามาเองลองติดต่อผ่านที่พัก หรือเดิน ๆ หาเอาที่นี่ก็น่าจะได้ครับ แต่ถ้าไม่อยากวัดดวง อยากได้ไกด์หรือลูกหาบที่เก่งมาก ๆ Service mind ดีมาก ๆ มีความรู้เยอะ ถามได้-ตอบได้ราวกับอับดุล และที่สำคัญแข็งแกร่งมาก ๆ ผมแนะนำ "ราเมศ" กับ "ลุงกม" ไกด์ของผมครับ
Facebook ราเมศ
Facebook ลุงกม
ทั้ง 2 คน เป็นไกด์ทั่วเนปาลครับ คือจะไปไหนในเนปาลก็สามารถพาไปได้ แม้แต่ขึ้น Everest
การเตรียมตัวมาแบบปาล์ม ๆ
ขอแนะนำการจัดกระเป๋าแบบฉบับนักเดินทางสายโสโคร..เอ้ย !! สายชิลอย่างผมนะครับ
เครื่องแต่งกาย
- เสื้อกันหนาวที่ดี ๆ หน่อยควรกันได้ถึง 0 องศาหรือน้อยกว่านั้นแนะนำพวกขนเป็ด หรือที่มีผ้า Fleece ข้างใน ที่นี่กลางคืนกับบน ABC หนาวมาก ๆๆ จริง ๆ *1
- ชุด Long John แนะนำให้มีครับ ร้อนก็ระบายเหงื่อง่าย หนาวก็กันหนาวได้ดี ทำความสะอาดก็ง่าย ใส่ซ้ำได้รัว ๆ ไม่เหม็น ปกติผมจะใส่ตอนเดินครับ ตัวเดียวเอาอยู่ *1
- ชุดทั่วไป 4-5 ตัว ผมแบกไปไม่เยอะครับ ใส่ซ้ำเอาแลกกับน้ำหนักกระเป๋าที่เบาลงเยอะมาก ๆ *4-5
- กางเกงขายาวที่กันหนาวได้แนะนำให้เอามาสัก 2 ตัวครับ ตัวหนึ่งใส่เดิน ตัวหนึ่งใส่นอน ที่ให้เอามา 2 เพราะถ้าวันไหนที่ตัวเปียกเพราะฝน หิมะ หรือลูกเห็บละก็มันจะนอนไม่สบายครับ *2
- ถุงเท้าสัก 2-3 คู่ ไว้ใส่นอน 1 คู่ (หนา ๆ หน่อย) ไว้ใส่เดิน 1-2 คู่ *2-3
- กางเกงใน เออ..อันนี้แล้วแต่ศรัทธาครับ *xx
- หมวกคลุมผม มีก็ดีครับเอาไว้คลุมให้หูอุ่น ๆ เวลาหนาว ๆ มันปวดเอามาก*1
- ถุงมือแบบหนา ๆ ก็ดีครับ วันหลัง ๆ นี่หนาวจนปวดเลย *1
- รองเท้าแนะนำเป็นรองเท้าเดิน Trek ครับ ลักษณะคือปุ่มพื้นรองเท้ามันจะสูงเกาะพื้นได้ดี (แต่เกาะหินไม่ดี) แต่จะดีที่สุดคือรองเท้าเดินหิมะครับ เพราะวันสุดท้ายที่เดินลุยหิมะ ถ้าหิมะมันเข้ามาในรองเท้ามันจะเย็นทรมานจนแทบจะอยากตัดนิ้วเท้าทิ้งเลยทีเดียว *1
ของใช้ทั่วไป
- เครื่องใช้ในห้องน้ำแนะนำว่าสบู่เอาแบบที่ล้างออกง่าย ๆ นะครับ ที่พักบางแห่งแรงดันน้ำน้อยกว่าหมาฉี่อีกครับ ถ้าล้างช้ามันจะหนาว (จริง ๆ ผมก็ไม่ค่อยได้อาบหรอก หนาวเกิ๊นนนนนนน XD)
- ทิชชูเปียก
- ถุงนอนไม่ควรใช้ถุงนอนไก่กาครับ ควรจะมีที่กันได้ 0 องศาหรือกว่านั้น อาจจะมาซื้อที่เนปาลก็ได้ครับ ถูกดี
- เสื้อกันฝนได้ใช้หลายสถานการณ์แน่ ทั้งฝน ลม หิมะ และลูกเห็บ
- Rain Cover ถุงครอบกระเป๋าในกรณีที่เสื้อกันฝนขนาดแค่พอดีตัว
- กระเป๋าเป้สำหรับใส่ของส่วนตัว
- Duffle Bag ถ้ามีจะดีสำหรับพี่ลูกหาบครับ จะทำให้แบกง่าย
- Trekking Pole หรือไม้เท้า มีประโยชน์มาก ๆๆๆ ครับ แล้วหัวเข่าจะรักคุณขึ้นอีกเยอะมาก มันทรมานจริง ๆ นะเวลาที่ต้องเดินขึ้นทั้งที่ปวดเข่า
- กระบอกน้ำ วันหลังมีแต่น้ำกรองให้เติมครับ ยังไงก็ต้องมี หรือจะเป็นขวดน้ำธรรมดาก็ได้ครับ พกไว้สัก 2 ขวด กำลังดี
- แว่นตาโพลาไรซ์ วันสุดท้ายได้ใช้แน่ ๆ ถ้าอยากจะเห็นความงามของเทือกเขาหิมะระยะใกล้
- แป้ง อันนี้แล้วแต่คนครับ แต่ผมเป็นพวกเหงื่อออกง่ายมาก ๆ มีไว้สบายตัวขึ้นเยอะ (จริง ๆ ไว้ดับกลิ่นวันที่ไม่อาบน้ำด้วย 5555)
- Power Bank ทุกที่พักมีที่ให้ชาร์จไฟครับ แต่เบ้ามีจำกัด แถมวันหลัง ๆ การชาร์จไฟจะคิดราคาต่อ 1 Device ฉะนั้นถ้ามี Power Bank ความจุเยอะ ๆ จะได้เปรียบครับ
- Universal Adapter ปลั๊กเนปาลหน้าตาไม่เหมือนบ้านเราครับ ต้องมีตัวแปลง ผมซื้อที่ห้างพันธุ์ทิพย์ราคา 180 บาท
- Diamox, พารา, ยานวด ควรมีติดตัวครับ น่าจะได้ใช้กันบ้าง
- ถ้าเป็นคนกินยาก อยู่ยาก พกเครื่องปรุงไทยพวก น้ำปลาขวดเล็ก ๆ น้ำพริกหรือทูน่ากระป๋องก็ดีครับ
- ชาซอง อันนี้แล้วแต่คนครับ แต่ผมชอบจิบชาอุ่น ๆ ระหว่างเดิน หรือตอนนั่งหนาว ๆ ดูวิวก็ชิลดีครับ ผมพกชาวนิลาของ Twinings ไป 6 ซอง กำลังดี
- Sun Block แบบดี ๆ เลย ผมเห็นเพื่อนหลายคน “หน้าไหม้” มากับตาแล้วครับสยองมาก *0*
- ไฟฉาย
อุปกรณ์ช่างภาพ
- กล้องผมพกไป 2 ตัวครับ 6D กับ Action Camera (ที่แทบไม่ได้ใช้เลย)
- Battery 2 ก้อน สำหรับผมพอดีสำหรับใช้ 1 วันครับ
- Memory Card เอาไปให้เยอะที่สุด ของผมพกไป 32+32+16+16 = 96 Gb ครับ (พอดีผมเป็นสาย Raw )
- ขาตั้ง จริง ๆ ถ้าใครไม่ได้ตั้งใจมาถ่ายดาว หรือ Time Lapse ไม่ต้องเอามาก็ได้ครับมันหนัก
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณ Palmography สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น